ฟิทช์ให้อันดับเครดิตบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ ‘A-(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 14, 2009 17:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National rating) ระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ แก่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ Phatra พร้อมทั้งประกาศแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตของ Phatra สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจวานิชธนกิจและในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ (high net worth clients) รวมทั้งระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท ซึ่งในปัจจุบัน Phatra ไม่มีหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน จากการแข่งขันในด้านค่าธรรมเนียมนายหน้าหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากการเปิดเสรีค่านายหน้าธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 Phatra ได้พยายามเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้บริษัทคาดว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่โดยเฉพาะจากธุรกิจการลงทุน ธุรกิจการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็น 25% ของรายได้รวมในอีก 2 — 3 ปีข้างหน้า แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ Phatra สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและสภาพคล่องที่สูงของบริษัท ถึงแม้ว่าสภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมยังคงอ่อนตัว อย่างไรก็ตามความเสี่ยงอาจมีมากขึ้นหากสภาวะตลาดทุนยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นหากบริษัทมีการขยายธุรกิจมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไปในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น ธุรกิจตราสารอนุพันธ์ และธุรกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ จะส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงอื่นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาการให้บริการทางธุรกิจระหว่างบริษัทกับ เมอร์ริล ลินช์ (หรือในปัจจุบัน คือ Banc of America Securities — Merrill Lynch (BAS-ML)) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน จากสัญญาการให้บริการทางธุรกิจที่บริษัทได้ทำไว้กับ BAS-ML ส่งผลให้รายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากลูกค้าสถาบันต่างประเทศของ Phatra เกือบทั้งหมดมาจาก BAS-ML ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ถือเป็นสัดส่วนเท่ากับ 40% ของรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รวมของบริษัท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 รายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นรายได้หลักของบริษัท ซึ่งคิดเป็น 62% ของรายได้รวมในปี 2551 ในขณะที่รายได้จากธุรกิจวานิชธนกิจมีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของรายได้รวม Phatra มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนระยะยาวของบริษัทสูงถึง 249 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงเป็น 207 ล้านบาทในปี 2551 จาก 485 ล้านบาทในปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ผลการดำเนินงานของ Phatra ยังคงปรับตัวลดลง โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 36 ล้านบาท ลดลง 72% จากไตรมาสที่1 ปี 2551 สาเหตุหลักมาจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง 54% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2551 เนื่องจากสภาวะตลาดที่ยังคงอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง กำไรสุทธิที่ลดลงในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นและอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมของ Phatra ลดลงเป็น 5% และ 3.5% ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากระดับ 15.4% และ 8.6% ตามลำดับ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 มูลค่าเงินลงทุนในธุรกิจการลงทุนของ Phatra มีสัดส่วนคิดเป็น 39% ของส่วนของผู้ถือหุ้น และ 28% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้น มีนาคม 2552 หนี้สินของ Phatra ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คิดเป็น 27.4% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้น มีนาคม 2552 ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยต้องดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio หรือ NCR) ไว้ไม่น้อยกว่า 7% ทั้งนี้เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของ Phatra อยู่ที่ระดับ 221% ณ สิ้น มีนาคม 2552 ในขณะที่อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 72.6% จาก 67.9% ณ สิ้นปี 2551 Phatra ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 และปัจจุบันกลุ่มผู้บริหารของบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 36.7% โดยเป็นการถือหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้ง Phatra เป็นบริษัทชั้นนำในด้านวานิชธนกิจในประเทศไทย และมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ที่ 6% ในปี 2551 ติดต่อ พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761 Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ