กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนทุกประเภทในไทย ดีดตัวพุ่งขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา
จุดเด่นจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป
- ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น 74% จาก 65 ในไตรมาส 1/2552 มาอยู่ที่ 113 ในไตรมาส 2/2552 เทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น 34% ในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับภาวะหดตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นลดลง
- ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น 55% มาอยู่ที่ 132 ในไตรมาส 2/2552 จาก 85 ในไตรมาส 1/2552 โดยมีการเติบโตอย่างโดดเด่นของตลาดจีนและอินเดีย ผลักดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียดีดตัวพุ่งสูงขึ้น
- นักลงทุนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะถดถอย โดยคาดว่าจีดีพีจะหดตัวลง 4.4% ในปี 2552
- นักลงทุนไทยเชื่อมั่นว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัยจะดีดตัวเพิ่มขึ้น 4.0% ในไตรมาส 3/2552
- นักลงทุนไทยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน จากเดิมซึ่งเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยได้หันมาใช้กลยุทธ์การลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างสมดุลมากขึ้น (คิดเป็นสัดส่วน 60% ในไตรมาส 2/2552 เทียบกับ 40% ในไตรมาส 1/2552)
- ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในจีน ยังคงอยู่ในทิศทางที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไอเอ็นจี กรุ๊ป สถาบันการเงินระดับโลก เผยข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 74% มาอยู่ที่ 113 ในไตรมาส 2/2552 จาก 65 ในไตรมาส 1/2552 ทั้งยังเพิ่มขึ้น 92% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2551 ที่ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยขยับตัวจากระดับ “ต่ำ” เป็นระดับ “ดี”
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียโดยรวม (ยกเว้นญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้น 55% โดยไต่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 132 ในไตรมาส 2/2552 จากที่ระดับ 85 ในไตรมาส 1/2552 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนมีการปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการเงินในประเทศต่างๆ ผนวกกับการที่นักลงทุนชาวเอเชียเชื่อมั่นว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียนั้นจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/2552
การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) เป็นการสำรวจดัชนีการลงทุนรายไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) เป็นรายแรก โดยเป็นการชี้วัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ทั้ง 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนดัชนีภาครวมของเอเชียจะรวมทุกตลาด ยกเว้นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พร้อมทั้งเสนอภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุน โดยสามารถใช้ดัชนีความเชื่อมั่นประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ปในการอ้างอิง
ทัศนคติอันสดใสของนักลงทุนไทย
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ที่ผ่านมา ที่นักลงทุนไทยมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อระบบเศรษฐกิจไทยและสถานะการเงินส่วนบุคคล จากเชิงลบมาเป็นเชิงบวก แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังคงอยู่ในภาวะถดถอย
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนของไทยในไตรมาสที่ 2/2552 นั้นปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายังต้องระมัดระวังปัญหาหรืออุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในปี 2552 โดยในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยจะลดลง 4.4% หลังจากที่ได้ลดลง 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 1/2552 ทั้งนี้เนื่องจากการบริโภคในครัวเรือน การส่งออก รายได้จากภาคเกษตร และจำนวนนักท่องเที่ยวได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่การว่างงานมีอัตราเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไอเอ็นจีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะการเติบโตอันสดใสอีกครั้งในปี 2553 เนื่องจากมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม และผลสำเร็จจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของรัฐบาล”
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุอีกด้วยว่า มีนักลงทุนไทยจำนวนเพิ่มมากขึ้น ที่มีทัศนคติที่ดีต่อตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย
นายมาริษ ท่าราบ กล่าวเสริมว่า “การประเมินค่าหลักทรัพย์กลับมาสู่ระดับที่เหมาะสม หลังจากมีการแข่งขันทางด้านราคาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยควรพิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่จะรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนสิงหาคม ศกนี้ ซึ่งคาดว่า จะมีบริษัทหลายรายที่มีการรับรู้รายได้ลดลง นอกจากนี้ ไอเอ็นจียังคาดการณ์ว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยจะมีหุ้นบางตัวที่สามารถถือเก็บไว้ ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอก การประท้วง และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง”
ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในจีนยังคงดีดตัวพุ่งขึ้น
“เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่โดยส่วนใหญ่มองว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมาก นักลงทุนไทยจึงมีการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในจีนทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งจากการสำรวจของไอเอ็นจี พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในจีนยังคงเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว อันเป็นผลจากความสำเร็จในการดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนสามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่คุกคามครอบคลุมทั่วโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศส่วนใหญ่ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่มีเพียงประเทศจีนและอินเดียเท่านั้น ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง” นายมาริษ ท่าราบ ให้ความเห็น
นักลงทุนจีน 90% คาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนของรัฐบาลจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจของจีน
มร. ไมเคิล ชิว ผู้จัดการอาวุโสด้านการลงทุน บริษัทบริหารจัดการการลงทุน ไอเอ็นจี ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า “ในบรรดามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ประกาศใช้เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก พบว่า มาตรการของจีนมีการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด ดังจะเห็นได้จากดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ของจีนที่ดีดตัวเพิ่มสูงดีขึ้น อาทิ ดัชนีการจัดซื้อ ซึ่งปรับตัวขึ้นสู่ทิศทางบวกติดต่อกัน 4 เดือนซ้อน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าการบริโภคของจีนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยปัจจัยดังกล่าวทั้งหมด จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในจีนดีดตัวสูงขึ้น”
“เราคาดว่าในไตรมาส 2/2552 จีนจะมีการขยายตัวของจีดีพีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.1% โดยจะมีการเติบโตในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เราคาดการณ์ว่า ประเทศจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีที่ 8% ได้ในปีนี้เช่นกัน” มร. ชิว กล่าวปิดท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติม
การสำรวจของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด มีขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นประจำทุกไตรมาส และนับเป็นการสำรวจรายไตรมาสรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในเขตภูมิภาคดังกล่าว (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยแยกตามภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการสำรวจประจำไตรมาส 2/2552 ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2552 โดยการสัมภาษณ์ออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนรายใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,314 คน กลุ่มตัวอย่างมีอายุ 30 ปีหรือสูงกว่า มีสินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า ยกเว้น อินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 56,000 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่านั้น) และฟิลิปปินส์ (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 เหรียญสหรัฐหรือรายได้ต่อเดือน 250,000 เปโซ หรือมากกว่านั้น) โดยผลสำรวจจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระ รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล (Research International) และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสถาบันการเงินและสื่อมวลชนใน 13 ประเทศ
เกี่ยวกับไอเอ็นจี
ไอเอ็นจี เป็นสถาบันการเงินระดับโลกสัญชาติดัชต์ ที่บริการจัดการด้านการธนาคาร การลงทุน การประกันชีวิต และการวางแผนเพื่อเกษียณ ให้แก่ลูกค้ารายบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนกว่า 85 ล้านราย ในกว่า 40 ประเทศ ด้วยบุคลากรกว่า 115,000 คน ไอเอ็นจีมุ่งมั่นในการให้บริการด้านการจัดการทางการเงินแก่ลูกค้าด้วยมาตรฐานสูงสุด
เกี่ยวกับรีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล
รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2505 โดยมีบริษัทดับบลิวพีพี (WPP) บริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการด้านการสื่อสารเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล นับเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทแคนทาร์ (Kantar) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของดับบลิวพีพีทั่วโลกที่ให้บริการด้านการให้ข้อมูลและคำปรึกษา โดยมีเครือข่ายสำนักงานในมากกว่า 50 ประเทศ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจเบื้องลึกในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจการเงิน สื่อแนวใหม่ อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนอุตสาหกรรมสินค้าบรรจุเสร็จ
รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มดำเนินการในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี 2534 และมีสำนักงานในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.research-int.com
ติดต่อสอบถาม
จุมพล สายมาลา สุภาวดี / สาธิดา
บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
โทร. 02-688-7780 โทร. 02-252-9871