กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--บีโอไอ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อนุมัติส่งเสริมมูลค่า 6,917 ล้านบาท โดยเสี่ยตันโออิชิขยายกิจการผลิตน้ำชา สยามโซลาร์ฯ ลงทุน 2.3 พันล้าน ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิส ขยายกิจการสำรวจพื้นผิวท้องทะเล สำหรับการออกแบบวางท่อก๊าซและน้ำมัน
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติให้การส่งเสริมการลงทุน 4 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 6,917 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนเพื่อขยายกิจการผลิตน้ำพืช ผัก ผลไม้ บรรจุภาชนะผนึก มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,430 ล้านบาท กำลังการผลิตประมาณ 108 ล้านลิตร โครงการนี้มีเป้าหมายผลิตน้ำชาจากใบชาในประเทศทั้งสิ้น รองรับอัตราการเติบโตของตลาดน้ำชาโดยเฉพาะชาเขียวที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ในปี 2551 โดยจำหน่ายในประเทศร้อยละ 90 ต่างประเทศร้อยละ 10
2. บริษัท สยามโซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนผลิตไฟฟ้าจากความร้อนแสงอาทิตย์ขนาด 9.8 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,330 ล้านบาท โครงการนี้จะผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Parabolic Trough ซึ่งเป็นระบบที่มีการใช้งานมากที่สุดทั่วโลก
3. บริษัท ทาสโก้ ชิปปิ้ง จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนเพื่อขยายกิจการขนส่งทางเรือ เพื่อให้บริการเดินเรือบรรทุกยางมะตอย เส้นทางจากประเทศไทยหรือมาเลเซีย ไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และอื่น ๆ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 844 ล้านบาท โดยบริษัท ทาสโก้ ชิปปิ้ง ฯ เป็นบริษัท ในเครือทิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ( มหาชน ) ผู้ผลิตและจำหน่ายยางมะตอยเพื่อใช้ในการบำรุงรักษาถนนทั้งในและต่างประเทศ
4. บริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนเพื่อขยายกิจการ บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และสำรวจด้านโครงสร้างของแท่นขุดเจาะและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,313 ล้านบาท โครงการนี้จะสำรวจพื้นผิวท้องทะเล สำรวจการไหลของกระแสน้ำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบวางท่อส่งก๊าซหรือน้ำมันใต้ทะเล รองรับความต้องการด้านบริการในการวางท่อก๊าซและน้ำมันทั้งในอ่าวไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้น
ภาวะลงทุนครึ่งปีแรกเริ่มขยับใกล้ปีที่ผ่านมา
นายชาญชัย กล่าวถึงภาวะการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 465 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 183,700 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 (197,200 ล้าน) ประมาณร้อยละ 7
อุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งตามลำดับ
สำหรับมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมามีมูลค่า 49,980 ล้านบาท โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 20,747 ล้านบาท ในกิจการผลิตชิ้นส่วน/อุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือประเทศยุโรป อเมริกาและสิงคโปร์ตามลำดับ