กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังรองรับการลงทุนในอนาคต เปิดทางทุกประเภทกิจการได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด พร้อมยืดเวลาหนุนผู้ประกอบการขยายการลงทุนในพื้นที่ไปจนถึงปี 2555
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิและประโยชน์มากกว่าพื้นที่อื่น สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับปรุงมาตรการเดิม 4 เรื่อง คือ 1. จากเดิมที่ให้ส่งเสริมกิจการเกษตรและผลผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงใหม่เป็นให้ทุกประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลกึ่งหนึ่งไม่เกิน 5 ปี หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และประปา 2 เท่า และหักเงินที่ใช้ในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรไม่เกิน 25% ของเงินลงทุน
2. ขยายเวลาให้กิจการนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมและกิจการที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดภาคใต้ สามารถรวมโครงการแรกเข้ากับโครงการขยาย ซึ่งจะทำให้ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการแรกยาวนานขึ้น จากเดิมมาตรการดังกล่าวกำหนดให้โครงการแรกยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 แก้ไขเป็นให้สิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555
3. ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ จากเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมโครงการใหม่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เป็นให้สิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการอยู่แล้วไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้หรือไม่ เพิ่มการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิและประโยชน์มากกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งโครงการเดิมที่ทำอยู่แล้ว และโครงการใหม่
4. สำหรับการหักค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ซึ่งปกติจะอนุญาตให้เป็นเวลา 10 ปี ก็ขยายให้เป็นเวลา 15 ปี เพื่อจูงใจให้มากเป็นพิเศษ