ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ “ธ. ธนชาต” ที่ “A-” คงอันดับเครดิตองค์กรและตั๋วแลกเงินที่ “A+” และคงหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 16, 2009 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตั๋วแลกเงินของ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของธนาคารที่ระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหารในธุรกิจหลักคือสินเชื่อเช่าซื้อ รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจที่ขยายตัวขึ้น และโครงสร้างธุรกิจที่เหมาะสมต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่การเกื้อหนุนทางธุรกิจในกลุ่มธนชาต อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์รายใหม่คือ Bank of Nova Scotia (BNS) จากประเทศแคนาดาซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 48.99% อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่เอื้ออำนวยน้อยลง ตลอดจนความไม่แน่นอนของธุรกิจหลักทรัพย์ และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขยายธุรกิจและการทำกำไรของกลุ่มธนชาต อันดับเครดิต “A-” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของธนาคารสะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้จะครบกำหนดในปี 2562 และ 2567 นอกจากนี้ยังสะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดทั้งจำนวนโดยธนาคารได้หลังจาก 5 ปี ภายใต้ความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย นับจากวันที่ออกตราสาร ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารโดยธนาคารจะมีภาระผูกพันในการจ่ายดอกเบี้ยในกรณีที่ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานหรือมีการจ่ายเงินปันผลสำหรับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ และสะสมดอกเบี้ยจ่ายในงวดที่มีกำไรถัดไป แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนบทบาทของธนาคารในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านการเงินและธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญของกลุ่มธนชาต โดยคาดว่าธนาคารจะยังคงสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักคือการให้สินเชื่อเช่าซื้อได้ต่อไปโดยยังคงความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้ อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากความสามารถในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมและการผสานประโยชน์ภายในกลุ่มธนชาตคาดว่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนทางการเงินของธนาคารในการขยายเครือข่ายบริการในช่วงของการขยายธุรกิจลงได้ ทริสเรทติ้งรายงานว่า ในช่วงระหว่างปี 2548-2551 ธนาคารธนชาตประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายสาขา เครือข่ายเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) และหน่วยแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาให้มีประสิทธิภาพมีพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังจะเห็นได้จากสถานะทางการตลาดโดยรวมของกลุ่ม ตลอดจนการกระจายตัวทางธุรกิจ และฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นในปี 2551 ในเดือนกรกฎาคม 2550 บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคารได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ BNS เพื่อลงทุนในธนาคาร มีผลทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของธนาคารเปลี่ยนแปลงไป โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ธนาคารมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยบริษัททุนธนชาต 50.92% และโดย BNS 48.99% ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจและฐานะทางการเงินของธนาคารได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างธุรกิจที่เหมาะสมของธนาคารและการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์จาก BNS ธนาคารธนชาตมีความพร้อมเป็นอย่างดีในการประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และธนาคารยังบรรลุผลในการพัฒนาธุรกิจที่เกื้อหนุนกันในกลุ่มด้วย การมีกลุ่มบุคลากรด้านสินเชื่อเช่าซื้อที่แข็งแกร่งและระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาสถานะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จากผลของกลยุทธ์ธุรกิจที่ดีของกลุ่มธนชาตทำให้ฐานะธุรกิจและการเงินของธนาคารและบริษัทในเครือยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รวมหลายบริการไว้ด้วยกันและกลยุทธ์การเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย (Cross Selling) ช่วยทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทในเครือของธนาคารทั้งในธุรกิจหลักทรัพย์บริหารกองทุน ลีสซิ่ง ประกันชีวิต และประกันภัยพัฒนาดีขึ้น ณ เดือนมีนาคม 2552 ธนาคารมีมูลค่าสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับจากงบการเงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 269,960 ล้านบาท ลดลง 2.34% จาก 276,430 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2551 ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ชะลอตัวลงและเติบโตเพียง 1.5% โดยมีจำนวนเท่ากับ 206,890 ล้านบาทจาก 203,829 ล้านบาทในปี 2551 จากมูลค่าสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารโดยไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วน 77% ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่จะคงความเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจสินเชื่อ เช่าซื้อรถยนต์ โดยในอนาคตธนาคารมีแผนในการขยายสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวม ธุรกิจหลักทั้ง 4 ประเภท (สินเชื่อเช่าซื้อ ประกันชีวิต หลักทรัพย์ และบริหารสินทรัพย์) ช่วยให้ธนาคารสามารถกระจายฐานรายได้ได้อย่างเต็มที่ โดย ณ เดือนมีนาคม 2552 ธนาคารมีฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งอยู่ในระดับคงที่จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจประกันชีวิตเป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้ว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 3.1% ในปี 2551 เป็น 3.2% ในไตรมาสแรกของปี 2552 ทริสเรทติ้งกล่าวถึงโครงสร้างเงินทุนว่า ธนาคารสามารถบรรลุแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินด้วยเช่นกัน โดยสามารถขยายขนาดของเงินฝากออมทรัพย์ได้อย่างมีนัยสำคัญโดยมีฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยที่กระจายตัวมากขึ้น ซึ่งเงินฝากออมทรัพย์จัดเป็นแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพและต้นทุนต่ำสำหรับธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนธันวาคม 2551 เงินฝากของธนาคารมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 43% จากปี 2550 และมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 27% ของเงินฝากรวม อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีเงินฝากลดลงเล็กน้อยในสัดส่วน 1.2% ในไตรมาสแรกของปี 2552 เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยธนาคารยังมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่และยังคงปล่อยกู้ส่วนเกินในตลาดเงินระหว่างธนาคาร หลังจากการเพิ่มทุนด้วยการเข้ามาถือหุ้นของ BNS ในเดือนกรกฎาคม 2550 ฐานเงินกองทุนของธนาคารก็มีความแข็งแกร่งขึ้น เห็นได้จากอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมที่เพิ่มขึ้นจาก 5.9% ในปี 2549 เป็น 7.0% ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวลดลงเป็น 5.6% เนื่องจากธนาคารมีสินทรัพย์ที่เติบโตเป็นอย่างมากถึง 25.8% ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงก็เพิ่มขึ้นจาก 11.13% เป็น 12.00% และเพิ่มขึ้นเป็น 12.12% ในปี 2551 (หากนับตามเกณฑ์ Basel II ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 11.18% ในปี 2551) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel II เพิ่มขึ้นเป็น 11.33% ในขณะที่พอร์ตสินเชื่อลดลงเล็กน้อย ทริสเรทติ้งยังกล่าวว่า การที่ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพียงพอได้ส่งผลให้อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้จัดชั้นค้างชำระมากกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ + สินทรัพย์รอการขาย) ต่อเงินกองทุนและสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ในระดับเพียง 0.3 เท่า ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ