กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
สรุปประเด็นการอภิปราย ก้าวข้ามพ้นทุจริตรับจำนำด้วยการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม จัดโดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ๑๖ ก.ค. ๕๒ โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ[1]
ประเด็นแรก การรั่วไหล การทุจริตและการไม่มีประสิทธิภาพในการรับจำนำก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินภาษีประชาชนไม่ต่ำกว่าห้าถึงหกแสนล้านบาทในช่วงหลายรัฐบาลที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลชุดนี้ด้วย ขอให้จับตาการระบายสินค้าเกษตรให้ดี โดยเฉพาะข้าวโพดในเวลานี้ และเมื่อมีการรับจำนำก็มักจะมีปัญหาการสวมสิทธิเกษตรกรเสมอ หรือ มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน
ประเด็นที่สอง การใช้นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรแบบผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็น การใช้นโยบายประชานิยมแบบผิดๆ (ทำร้ายประชาชนมากกว่า) และไม่สนใจผลกระทบระยะยาวต่อระบบเกษตรกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกลไกตลาดและกลไกราคาของสินค้าเกษตรเกิดการบิดเบือน
ประเด็นที่สาม ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม
๑. สร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกรด้วยการพัฒนาเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรให้เข้มแข็ง มีคุณภาพและเป็นอิสระ
๒. จัดพื้นที่เกษตรกรรมหรือทำโซนนิ่งอย่างเป็นระบบ
๓. ทะยอยลดวงเงินในการรับจำนำ และ หันมาใช้ระบบประกันราคาขั้นต่ำเพิ่มขึ้นตามลำดับ
๔. สร้างระบบและกลไกในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่า ด้วยการลงทุนทางด้านวิจัยผลิตภัณฑ์ พัฒนาคุณภาพสินค้า และพัฒนาทางการตลาด การปฏิรูปที่ดิน และ การกระจายการถือครองปัจจัยการผลิต
[1] คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร