กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กทท.
นางสุนิดา สกุลรัตนะ กรรมการ การท่าเรือฯ รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) สู่การเป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ว่า กทท. ได้เร่งพัฒนาศักยภาพท่าเรือสู่ระบบ e-Port เพื่อก้าวสู่ความเป็นท่าเรือที่ทันสมัยมีมาตรฐานระดับโลกโดยพัฒนาระบบบริหารจัดการและการบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการเรือสินค้าและตู้สินค้าให้มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ซึ่งในขณะนี้โครงการ e—Port ได้มีความคืบหน้าทั้งในส่วนของการติดตั้งระบบควบคุมการผ่านเข้าออกประตูตรวจสอบอัตโนมัติหรือ e-Gate ที่ ทกท. และระบบจัดเก็บค่ายานพาหนะผ่านท่า e-Toll ที่ ทลฉ. เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการของท่าเรือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ พร้อมเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยของยานพาหนะและบุคคลที่ผ่านเข้าออกท่าเรือ รวมทั้งการติดตั้งระบบการให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้า (CTMS) ที่ ทกท. ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการตู้สินค้าผ่านเข้า - ออกท่าเรือเป็นไปตามมาตรฐานสากลก็มีความคืบหน้ามาก คาดว่าระบบต่างๆ ดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานภายในปลายปี 2552 นี้
นอกจากนี้ กทท. ยังมีโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ ทลฉ. ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว สนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าที่ขนส่งทางรถไฟได้ถึงปีละ 2.0 ล้านทีอียู ตลอดจน กทท. ยังเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยด้วยระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั้งที่ ทลฉ. และ ทกท. จำนวน 72 กล้อง และจำนวน 30 กล้อง ตามลำดับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่และเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะและ ทกท. ยังได้รับเลือกจากเยอรมันให้เป็นท่าเรือสาธิตในโครงการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมของท่าเรือในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้าและตู้สินค้าผ่าน ทกท. และ ทลฉ. นั้น รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า
ในช่วง 8 เดือน ของปีงบประมาณ 2552 (ต.ค. 51 — พ.ค.. 52) โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลดำเนินงาน กล่าวคือ
ทกท. มีเรือผ่านท่า จำนวน 1,702 เที่ยว ลดลง 13% สินค้าผ่านท่า 9.951 ล้านตัน ลดลง 18% และตู้สินค้าผ่านท่า (รวมตู้เปล่า) จำนวน 0.841 ล้านทีอียู ลดลง 16%
ทลฉ. มีเรือผ่านท่า จำนวน 4,948 เที่ยว ลดลง 9% สินค้าผ่านท่า 30.229 ล้านตัน ลดลง 16% และตู้สินค้าผ่านท่า จำนวน 2.962 ล้านทีอียู ลดลง 15% ทั้งนี้คาดว่าปริมาณสินค้าผ่านท่าจนถึงปลายปีนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหากไม่มีปัจจัยอื่นๆ มากระทบ โดยเฉพาะ ทลฉ. ที่กำลังจะรับเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้าเทียบท่าเป็นการประจำ เนื่องจากการที่มีเรือแม่ขนาดใหญ่ระดับโลกเข้าเทียบท่าเรือในประเทศไทยเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเดินเรือต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยและศักยภาพของ ทลฉ. อันจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนา ทลฉ. ระยะ 3 ต่อไป