กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ฯ
3 องค์กรเศรษฐกิจชี้ภาพรวมส่งออกอาหารของไทยครึ่งแรกของปี 2552 ติดลบตามคาด ภาวะการผลิตหดตัวลงร้อยละ 3.5 ขณะที่มูลค่าการส่งออกเหลือ 351,118 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 7.6 เหตุอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัว ทั้งเผชิญการแข่งขันสูง ส่วนกลุ่มอาหารสำเร็จรูปรับอานิสงส์จากวิกฤตความปลอดภัยในอาหารของจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 คาดแนวโน้มครึ่งปีหลัง ภาพรวมการส่งออกจะหดตัวร้อยละ 6.9 ปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก และจะขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้าย เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว และผู้บริโภคคลายความวิตกกังวล โดยภาพรวมตลอดทั้งปีคาดการส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 722,000 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.2 สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป เช่น กุ้ง ไก่ น้ำตาลทราย ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส ข้าวแปรรูป และน้ำผลไม้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก สถาบันอาหารมั่นใจอุตสาหกรรมอาหารไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพราะมีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานความปลอดภัย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย : การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มีมูลค่า 351,118 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตอาหารในปีก่อน ส่งผลทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้านำเข้าลดลง อย่างไรก็ตาม ไทยได้รับอานิสงส์จากวิกฤตความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับอาหารของประเทศจีน ทำให้กลุ่มอาหารสำเร็จรูปของไทยมีมูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.8
อย่างไรก็ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่าการส่งออกที่แท้จริงจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ส่วนมูลค่าส่งออกจะยังคงหดตัวร้อยละ 6.9 แต่โดยรวมแล้วปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 7.6 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยภาวะอุตสาหกรรมอาหารในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับปัจจัยบวกจากความวิตกกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจคลายตัวลงมาก หลังจากตัวแปรเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงท่ามกลางราคาขายที่เริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ ส่วนกลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบ และอาหารสัตว์ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงปลายปีตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต คาดว่าส่งผลให้การส่งออกอาหารของไทยจะขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้าย แต่ในช่วงไตรมาส 3 จะยังคงหดตัวลงเนื่องจากเปรียบเทียบกับฐานการส่งออกที่สูงมากในปีก่อน
โดยสรุปภาพรวมตลอดปี 2552 คาดว่าการส่งออกอาหารของไทยจะมีมูลค่า 722,000 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.2 แต่หากพิจารณาการส่งออกในเชิงปริมาณ (การส่งออกที่แท้จริง) จะขยายตัวร้อยละ 1.5 เนื่องจากมีสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหลายรายการมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น กุ้ง ไก่ น้ำตาลทราย ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส ข้าวแปรรูป และน้ำผลไม้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว น่าจะทำให้ผู้นำเข้ามีความเชื่อมั่นในการนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้น
“อย่างไรก็ตามจากกรณีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น ผมมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะในเชิงการส่งออก เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และเป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคในตลาดโลก สำหรับการบริโภคในประเทศไทยเอง ก็ควรถือโอกาสนี้ช่วยกันผลักดันผู้ประกอบการ เร่งพัฒนามาตรฐานการผลิตให้ทัดเทียมมาตรฐานการส่งออก เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน นอกเหนือไปจากการดูแลสุขภาพโดยเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ฯ
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2158 9416-8