กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--เจเอสแอล
“สุริวิภา” พุธที่ 22 พฤศจิกายน ศกนี้ พบกับ ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ นายแพทย์ที่อยากให้คนเรียกขานเขาว่าครูหรืออาจารย์มากกว่า เพราะเขาวางมือจากอาชีพแพทย์เพียง 2 ปีหลังจบ หันมายึดอาชีพ “ครู” ทั้งๆ ที่มีความฝันอยากเป็นนักร้อง แต่การตัดสินใจทำเพื่อพ่อในครั้งนั้น กลับนำพาชีวิตของเขามาถึงจุดแห่งความสำเร็จ เพียงแต่เส้นทางเดินไม่ง่ายนักต้องผ่านศึกหนัก หนี้ 10 ล้านที่ตัวไม่ได้ก่อ จนต้องทำงานทุกอย่าง เป็นทั้ง ยาม ภารโรง เด็กแจกใบปลิว และพัฒนาระบบโรงเรียนกวดวิชาของเขาจนเป็นที่ยอมรับมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของไทย
ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ชิงออกตัวให้เรียกเขาว่าครูแทนคุณหมอและเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตว่า “10 กว่าปีแล้วครับที่ไม่ได้ทำหน้าที่หมอ ทุกวันนี้เวลาลูกไม่สบายผมก็ต้องอุ้มลูกไปหาหมอครับ ผมเป็นลูกคนที่ 3 ในพี่น้อง 4 คน พ่อแม่เป็นครูทั้งคู่ ฐานะที่บ้านค่อนข้างลำบากไม่รวย ถ้าผมอยากใช้เงินมากกว่าที่พ่อให้ ก็ต้องแอบไปรับจ้างขับสามล้อ ไปขายเรียงเบอร์ ตอนเด็กๆพื้นฐานการเรียนดี เริ่มมาเกเรตอนอยู่มัธยมต้นแอบหนีไปเข้าแกงค์ซิ่งจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ บ้านผมอยู่นนท์ก็ปั่นกันไปเป็นฝูงถึงสมุทรปราการ รังสิต ปิ่นเกล้า เพื่อนกลุ่มที่คบก็พื้นฐานไม่ค่อยดีชวนทำเรื่องเกเร แต่ผมไม่เคยลงมือแค่ดูต้นทางให้ เข้าใจเลยว่าทำไมพ่อแม่จึงสอนเด็กว่าคบคนพาลพาลพาไปหาผิด เรียนตกเหลือแค่ 2 กว่าๆ จนตอนสอบเข้ามัธยมปลายผมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมที่พ่อสอนได้ ก็ดีใจและเริ่มรู้ตัวว่าอีก 3 ปีต้องเอนทรานซ์เองให้ได้ ก็เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ตั้งใจเรียน จากสอบได้ที่ 53 ขยับมาเป็นที่ 30 แล้วเคยท็อปวิชาปลูกผักบุ้งจีน จนเลื่อนมาอยู่ห้องคิงและจบ 3.98 พ่อแม่ดีใจมากเหมือนโจรกลับใจ
ตอนจบม.ปลาย อายุ 16 ตอนเอนทรานซ์ ผมก็แอบทำเทปเดโมส่งให้แกรมมี่เพราะเขาประกาศรับนักร้องใหม่ เพราะใจผมอยากเป็นทั้งสองคือนักร้องและหมอ หมอเป็นอาชีพที่พ่อปลูกฝังให้ว่าเป็นอาชีพสุจริตมีเกียรติ ที่สุดสอบติดแพทย์ศิริราช ก็ไปเจอเพื่อนหลากหลายกลุ่มอีก กลุ่มหนึ่งชอบธรรมะ ผมตื่นแต่เช้าใส่บาตรทุกเช้าและนั่งสมาธิทุกเย็น อีกกลุ่มเพื่อนเรียน อีกกลุ่มเพื่อนเที่ยว 4 ทุ่มออกเที่ยวทุกคืน ปีแรกได้เกรดเฉลี่ยแค่ 2 กว่า ก็เริ่มคิดได้กลับตัวใหม่ ปี 2- ปี 6 ก็ตั้งใจเรียนจบ 3 กว่าแต่ไม่ได้เกียรตินิยม และตั้งใจอยากเป็นสูตินารีแพทย์เพราะมีปมในใจว่า พี่ชายคนโตคลอดผิดท่าเลยมีอาการทางสมอง เราก็อยากแก้ปัญหาการคลอดแบบนั้นให้ได้ เขาให้ฝึกทำคลอดอย่างน้อย 5 เคส ผมทำไว้ 81 เคส เป็นสถิติของโรงพยาบาลไปเลย”
ถึงตอนนั้น เขาคือ นพ.ประกิตเผ่า หมอหนุ่มจบใหม่ไฟแรง ที่เข้าไปทำงานปรับโฉมให้สถานีอนามัยที่บางกอกใหญ่ มีคนไข้หนาแน่นถึง 95 คนต่อวัน “ผมเลือกเป็นหมออนามัยแทนการสังกัดทหารตำรวจและกระทรวง เพราะหมออนามัยไม่ค่อยมาคนเลือก แต่วันแรกไปถึงมีคนไข้ 4 คน ผมก็ตกใจ ร่ำเรียนมา 5-6 ปี จะได้ใช้วิชาความรู้แค่นี้เหรอ ก็รู้ปัญหาว่าสถานีอยู่ใกล้โรงพยาบาล คนก็ให้ความเชื่อถือโรงพยาบาลมากกว่า จากนั้นจึงเริ่มทำสิ่งใหม่ๆให้อนามัย ทำการผ่าตัดเล็ก ตกแต่ง บริการคนไข้ด้วยใจ ออกตรวจตอนเช้า บ่ายเดินเข้าไปดูแลแม่และเด็กถึงในบ้านในชุมชน จนตอนหลังคนไข้มาหามากชนิดต้องตรวจซะมือเป็นระวิง”
2 ปีในสถานีอนามัยมีผู้คนรักใคร่มากมายทั้งคนไข้และผู้ร่วมงาน แต่อยู่ๆ เขาก็เซ็นใบลาออกจากอาชีพที่เขาเรียนมายาวนาน “ตอนนั้นพ่อกับแม่ทำโรงเรียนกวดวิชาอยู่ครับ แล้วโทรมาบอกว่าครูลาออกหมดเหลือพ่อคนเดียว ความรู้สึกตอนนั้นห่วงพ่อกับแม่ที่สุดว่าท่านจะทำยังไง คิดอยู่ไม่เกิน 5 นาที ที่อนามัยไม่มีเรายังมีคุณหมอและพี่พยาบาลคนอื่นที่จะทำกันต่อได้ แต่ที่โรงเรียนคุณพ่อตอนนี้ถ้าไม่มีเราไปช่วยก็คงลำบากอยู่ไม่ได้ ผมเซ็นใบลาออกจากราชการเลยครับ”
แต่การเป็นครูไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาเลย แถมยังเรื่องการจัดการกับหนี้ 10 ล้านที่ไม่ได้ก่อ “สอนวันแรกผมคลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง น้ำตา คลอด้วยความกลัว ต้องหันหลังให้เด็กก้มหน้าคู้อยู่กับกระดานให้เด็กลอกตาม ตื่นเต้นอย่างไม่เคยมาก่อน ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วเป็นอย่างนั้นอยู่เกือบปี จนมีผู้ปกครองเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาบอกว่า หมอสอนดีนะ แต่กลับไปเป็นหมอเหมือนเดิมดีกว่า ก็อึ่งไปเลยกลับมาทบทวนว่า เป็นเพราะเรายังเตรียมการสอนไม่ดีเราถึงประหม่า จากนั้นผมทุ่มเวลาทั้งวันเตรียมสอนเพียง 2 ชั่วโมง 6 เดือนต่อมาผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งหลักว่าต้องสอนยังไง กำลังเข้าที่เข้าทางปรากฏโรงหนังลิโด้ที่อยู่ติดโรงเรียนไฟไหม้ ก็ตั้งรีบปรับปรุงโรงเรียนใหม่ จากนั้นอีกปีหนึ่งญาติสนิทถูกโกงเพราะไปเซ็นค้ำประกัน เราต้องเป็นหนี้ 10 ล้าน เหมือนต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการติดลบ ผมต้องทำทุกอย่างเอง ตอนเช้าไปยืนแจกใบปลิวโค้งคำนับไปด้วย กลางวันมาสอน ตอนกลางคืนอยู่เป็นยามเฝ้าดูแลโรงเรียนเอง ส่วนเรื่องการสอนก็อาศัยความรู้ด้านระบบจากการเป็นหมอมาพัฒนา ปรับโฉมการเรียนการสอนใหม่ให้เรียบเรียงความคิดเป็นระบบ สร้างความเข้าใจ ไม่ต้องจำ ปรับโฉมทั้งรูปแบบชีท ข้อสอบ มีการทดลอง โจทย์ใหม่จากเมืองนอกมาเปลี่ยนทุกปีครึ่ง อาคารเรียนก็ทาสีติดแอร์ เพียง 2 ปี ผมก็ใช้หนี้หมด”
ถึงวันนี้ โรงเรียนกวดวิชาของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีระบบบริหารที่อยู่ตัว จนเขาสามารถมีเวลาให้กับครอบครัวน่ารักๆ ลูกสาว 11 ขวบ และ ลูกชาย 8 ขวบ ได้อย่างเต็มที่ วันหยุดวันอาทิตย์ก็จะชวนกันไปทำบุญและพักผ่อนที่บ้านปากช่อง ซึ่ง “สุริวิภา” จะนำไปชมความรักความอบอุ่นที่ อบอวลอยู่ในบ้านหลังนั้น ติดตามชมใน “สุริวิภา” วันพุธที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เวลาดีสี่ทุ่ม ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
วิรดา อนุเทียนชัย (วิ) 0 — 1804 - 5493
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net