เด็กไทยประกาศชัย คว้า 1 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน ฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ จากเม็กซิโก

ข่าวทั่วไป Monday July 20, 2009 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สสวท. นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่าตามที่สสวท.ได้คัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2552 จำนวน 5 คน ระหว่างวันที่ 11 — 19 กรกฏาคม 2552 ณ เมืองเมอริดา ประเทศ เม็กซิโก โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขันรวม 316 คน ผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยสามารถพิชิต 1 เหรียญทอง 4 เหรียญเงินจากฝีมือของ นายธนภัทร วรศรัณย์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญทอง นายจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญเงิน นายวีรภัทร พิทยครรชิต โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เหรียญเงิน นายสรณภพ เทวปฏิคม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เหรียญเงิน นายอิสระพงศ์ เอกสินชล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญเงิน คณะผู้แทนประเทศไทยฯ จะเดินทางกลับถึงไทยในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 เที่ยวบิน TG 677 เวลา 21.25 น. สสวท.จะมีพิธีต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยฯ ตามกำหนดดังกล่าว ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ชั้น 2 ด้านใน ประตูที่ 5 นายธนภัทร วรศรัณย์ หรือ “ตั้ว” เจ้าของเหรียญทอง เผยว่าเรียนฟิสิกส์ด้วยใจรักเพราะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ และกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก หลักการของฟิสิกส์นำมาใช้ได้จริงในทุกกรณี จึงอยากเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นไป และทำงานวิจัยศึกษาด้านนี้ อนาคตอยากเรียนฟิสิกส์ควบคู่กับวิศวะการแพทย์ สำหรับปัจจุบันอยู่ในช่วงรอไปศึกษาต่อต่างประเทศ ความสำเร็จของเขามาจาก “คุณพ่อในดวงใจ” ซึ่งทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนของลูกโดยแสวงหาแนวการพัฒนาตัวเองให้กับลูกๆ จนกระทั่งมาถึงก้าวแรกของความสำเร็จได้ในวันนี้ ตั้วยังเคยคว้าเหรียญทองจากเวทีแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ครั้งที่10 ที่เพิ่งจะผ่านมาในประเทศไทย โดยทำคะแนนได้เป็นอันดับที่10 ของการแข่งขัน และยังเคยได้รับเหรียญทองการแข่งขันเปียโนเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 6 ด้วย นายจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ หรือ“ ทิว” เผยว่าบรรยากาศในการเรียนรู้ โดยเฉพาะโอกาสการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพของเด็ก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตัวของทิวแล้วเขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดมุกดาหาร ทำให้ตระหนักได้ว่าเด็กต่างจังหวัดขาดโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้ ขาดแคลนหลายๆ ด้าน แต่นี่ไม่ได้ทำให้เขาหยุดอยู่กับที่ แต่กลับทุ่มเทความพยายามจนมาถึงจุดนี้ได้สำเร็จ “เด็กจะอยากเรียนวิทยาศาสตร์ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาอย่างไร ประเทศจะพัฒนาไม่ได้ถ้าขาดวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเราเรียนกันมากไปครับ เรียนโดยไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม จึงอยากให้คุณครูวิทยาศาสตร์ช่วยเน้นในจุดนี้ให้เด็กๆ เข้าใจครับ” ทิวให้ทัศนะคมคาย นายวีรภัทร พิทยครรชิต หรือ วี มองว่าฟิสิกส์เป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล ไม่จำเป็นต้องท่องจำเพราะเป็นคนที่ไม่ชอบท่องอยู่แล้ว จึงทำให้รักและสนุกกับวิชาฟิสิกส์ เคล็ดลับเรียนดีคือฝึกนั่งสมาธิ ซึ่งบางครั้งจะไปฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาที่วัด เพื่อทำจิตใจให้สงบ เมื่อจิตนิ่งไม่ว่องแวก สมองก็ปลอดโปร่ง ทำให้มีสมาธิในการเรียน อนาคตตั้งเป้าเรียนต่อด้านฟิสิกส์โดยมีปลายทางฝันที่รางวัลเกียรติยศของสุดยอดนักฟิสิกส์นั่นคือรางวัลโนเบล ส่วนตอนนี้หวังอยากให้มีสันติในโลกรวมทั้งประเทศไทยของเราด้วยครับ นายสรณภพ เทวปฏิคม หรือ เกรท ชอบวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมาก ถึงจะเรียนดีแต่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่ใช่เด็กที่เอาแต่เรียนอย่างเดียวเพราะคุณพ่อ คุณแม่ปลูกฝังให้รักการเรียนแต่ไม่ทิ้งการเล่นตามวัยอันสมควรของลูก เกรทเชื่อว่าคนที่มีคุณภาพควรพร้อมด้านอื่นๆด้วยเช่น ดนตรี กีฬา นันทนาการและเข้าสังคมได้ซึ่งครอบครัวก็จะส่งเสริมลูกมาตลอด เกรทจึงได้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.6 อนาคตฝันอยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาการศึกษาเด็กไทย “ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการเรียนวิทยาศาสตร์ให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทำแล็ปหลายแห่งแทบจะไม่มีเลยหรือถึงมีก็สภาพแย่มาก นักเรียนไม่ได้เห็นของจริง ไม่ได้สัมผัสความสวยงามของฟิสิกส์ แบบนี้ถึงแม้ครูจะเก่งแค่ไหน แต่นักเรียนก็เบื่อ เรียนแล้วลืมหมด” เกรทสะท้อนมุมมอง นายอิสระพงศ์ เอกสินชล หรือ ปริ๊นซ์ ปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เผยว่าเบื้องหลังความสำเร็จคือครอบครัวที่คอยสนับสนุนการเรียนรู้ทุกอย่าง และไม่เคยสักครั้งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องการให้เขาเดินตามรอยอาชีพของท่าน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนสื่อเพื่อการเรียนรู้แก่ลูกเต็มที่ ปริ๊นซ์จุดประกายรักฟิสิกส์ตั้งแต่ 4 ขวบ ตอนเล่นรถของเล่นเพราะอยากรู้ว่ากลไกข้างในเป็นอย่างไร ทำไมรถจึงวิ่งได้และถ้าอยากให้วิ่งเร็วกว่านี้จะทำอย่างไร พอโตขึ้นจึงได้รู้คำตอบว่านี่คือฟิสิกส์ และมองเห็นคุณค่าของฟิสิกส์ในชีวิตรอบตัว “การเรียนวิทยาศาสตร์ที่ไม่น่าเบื่อและทำให้อยากเรียนนั้น คุณครูควรเข้าใจพื้นฐานนักเรียนแต่ละคนว่ามีความสามารถในการเข้าใจที่แตกต่างกัน เปิดโอกาสให้เด็กซักถามได้มากๆครับ” ปริ๊นซ์ฝากข้อคิด Copy ไฟล์ภาพและประวัติผู้แทนฯ โอลิมปิกที่ www.ipst.ac.th ซ้ายมือ แบนเนอร์ที่12 “ภาพผู้แทนฯ “ คลิ๊ก ประวัติผู้แทนฯ ปีพ.ศ.2552 ฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ http://portal.ipst.ac.th/cs/ContentServer?c=IPSTNews&pagename=Spark/Page/RssContentDisplayLayout&cid=1245032599156

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ