สปส.แจงมีแผนลงทุนต่างประเทศชัดเจน

ข่าวทั่วไป Friday August 4, 2006 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สปส.
ตามที่มีข่าวว่ามีคณะอนุกรรมการหลายคนเห็นว่าแผนการลงทุนต่างประเทศของสปส.ยังไม่ชัดเจน ในการประชุมคณะอนุกรรมการการลงทุนกองทุนประกันสังคมที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า สปส.ได้นำเสนอวาระเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ขออนุมัติหลักการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ วงเงินรวม 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยมีแผนลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ และหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่อยู่ในอันดับ Investment Grade หุ้นสามัญ หน่วยลงทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง การลงทุนตามแผนดังกล่าวได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการอนุญาตมีผลสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 การนำเสนอข้อมูลว่าหากไม่รีบดำเนินการอนุมัติหลักการจะทำให้เสียโอกาสการลงทุนจึงไม่เป็นความจริง เพียงแต่การดำเนินการจำเป็นต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
รายงานข่าวที่เสนอว่า กรรมการหลายคนเห็นว่า การขออนุมัติเงินลงทุนยังไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นความจริง เพราะมีกรรมการเพียงท่านเดียว คือนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่ถามข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการลงทุนในหลักทรัพย์ มาตรการป้องกันความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ค่ารักษาบัญชี ฯลฯ ซึ่ง สปส.ได้ชี้แจงในที่ประชุมครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน มีมติเห็นชอบในหลักการและให้ปรับปรุงรายละเอียดการนำเสนอ เพื่อขออนุมัติหลักการจากคณะกรรมการประกันสังคมต่อไป
อย่างไรก็ดี สปส.ในฐานะผู้บริหารกองทุนประกันสังคมได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า กองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนกรณีชราภาพ ซึ่งปัจจุบันมีเงินลงทุนจำนวน 297,940 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีจำนวนเงินลงทุนมากกว่า 7 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ.2580 ทำให้ไม่สามารถหาแหล่งลงทุนในประเทศไทยได้เพียงพอกับจำนวนเงินลงทุนจำนวนมาก สำนักงานจึงอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม ลงทุนเงินจำนวน 16,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักวิชาการในการบริหารกองทุน แม้แต่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันมีเงินลงทุนจำนวนน้อยกว่า คือประมาณ 266,580 ล้านบาท ยังได้แบ่งเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวนประมาณ 24,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9 ของเงินลงทุน
ทั้งนี้ การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม อยู่ภายใต้กรอบการลงทุนที่กำหนดโดยคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล และถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการประกันสังคมอย่างใกล้ชิด การลงทุนของกองทุนมีจุดหมายเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่เหมาะสม และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนในระยะยาว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506/www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ