กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สกว.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดตัว “โรงเรียนทำหนังวัฒนธรรม” เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนในเครือข่ายยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. โดยมีทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเป็นทีมประสานงานยุววิจัย และมีสถาบันรามจิตติเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนทำหนัง มีเครือข่ายเยาวชนกว่า 200 คนและครูที่ปรึกษาการวิจัยของเด็กกว่า 50 คนในโรงเรียนมัธยม 24 โรงเรียน ในจังหวัดลำปางของเข้าร่วมโครงการรุ่นแรก
เมื่อวันที่ 18 — 19 กรกฎาคม 2552 นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เดินทางไปเปิดโครงการ “โรงเรียนทำหนังวัฒนธรรม” ในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยมีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางให้การต้อนรับ ร่วมกับ ผศ.ชุติมา คำบุญชู หัวหน้าโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง นอกจากนี้ยังมีผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนล้านนา และหัวหน้าโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เข้าร่วมการเปิดงานดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้โครงการ “โรงเรียนทำหนังวัฒนธรรม” เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านการดำเนินงานโดยสถาบันรามจิตติ ที่มีเป้าหมายที่การส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนในเครือข่ายยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถใช้สารคดีเป็นเครื่องมือในการวิจัยและเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ผลิตสารคดีทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อสื่อสารมรดกทางวัฒนธรรมแก่สังคม ซึ่งปัจจุบัน สกว.ได้ให้การสนับสนุนโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในทุกภูมิภาคเกือบ 1,000 โครงการใน 45 จังหวัด โดยหวังว่าโรงเรียนทำหนังวัฒนธรรมจะได้มีส่วนในการเสริมพลังเครือข่ายของเยาวชนเหล่านี้ในพื้นที่ต่างๆ ได้เต็มที่
กิจกรรมดังกล่าวออกแบบเป็นลักษณะค่ายการเรียนรู้และผลิตสื่อสารคดี โดยเน้นการสร้างสารคดีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เด็กๆ เยาวชนเป็นคนทำวิจัยเองและทำสารคดีเอง โดยการออกค่ายหรือการอบรมปฎิบัติการนั้น มีนักวิชาการและทีมสารคดีของสถาบันรามจิตติเป็นผู้จัดกิจกรรม ทั้งนี้กิจกรรมตั้งแต่การออกแบบสารคดีในสไตล์ยุววิจัยฯ ไปจนถึงการสร้างและเขียนโครงเรื่อง ตลอดจนการทดลองถ่ายทำการเก็บข้อมูลร่องรอยหลักฐานต่างๆ ที่เด็กค้นพบในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การตัดต่อภาพ การเลือกดนตรีประกอบ การพากย์ เป็นต้น โดยคาดหมายว่ายุววิจัยที่ผ่านหลักสูตรนี้ จะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปผลิตสื่อและสารคดีหลากหลายแบบ เช่น หนังสารคดี บทความเชิงสารคดี หนังสือ การ์ตูน ตามแต่เด็กๆ จะเลือก
ค่ายโรงเรียนทำหนังวัฒนธรรมรุ่นแรก ขณะนี้จัดไว้ 2 รุ่น คือรุ่นที่ 1 วันที่ 18—19 กรกฎาคม และรุ่นที่ 2 วันที่ 25-26 กรกฎาคม 2552 ซึ่งแต่ละครั้งมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 100 คนต่อครั้ง เป็นเยาวชนจากโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลำปางที่ได้ดำเนินงานยุววิจัยมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แม้ว่าขณะนี้ทีมยุววิจัยต่างๆ จะเริ่มวิเคราะห์และเตรียมสรุปผลแล้ว “แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่สวช.ได้เข้ามาหนุนเสริมงานในช่วงนี้ ซึ่งจะทำให้การทำงานของเยาวชนมีเครื่องมือเสริมการเรียนรู้ที่มีพลังมากขึ้น ขณะเดียวกันสวช.และกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนสังคมเองก็จะได้มีสื่อสร้างสรรค์ดีๆ ทางวัฒนธรรมที่ผลิตจากฝีมือของเด็กๆ ด้วย” ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติผู้รับผิดชอบการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนทำหนังวัฒนธรรมให้แก่ทาง สวช.กล่าว
ส่วนท่านใดสนใจโครงการดังกล่าวสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโรงเรียนทำหนังวัฒนธรรมหรือดูตัวอย่างสารคดีได้ที่ http://www.youtube.com/user/ramajittidoc และติดตามโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลำปางได้ที่http://yuvavijailp.igetweb.com/