“กรมส่งออก” ดันงาน “มหกรรมบันเทิงไทย52” สร้างธุรกิจ - ขยายตลาดบันเทิงไทย สู่ตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Monday July 20, 2009 12:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--Cournot and Nash “กรมส่งเสริมการส่งออก” รุกจัดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย 52 หรือ Thailand Entertainment Expo 09” ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมบันเทิงไทย 16-20 กันยายนนี้ ณ พารากอน ฮอล์ล หวังกระตุ้นการลงทุนและสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศด้านธุรกิจบันเทิง รวมทั้งดึงต่างชาติใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำหนัง โกยเงินเข้าประเทศ ด้านสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยและ TACGA พร้อมใจดันสยามเมืองยิ้มเป็นหนึ่งในแผนที่โลกของผู้จัดงาน มั่นใจสามารถขยายตลาดแอนิเมชั่นมูลค่า 5-6 พันล้าน เติบโตต่อเนื่อง นายประมุข มนตริวัต ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมธุรกิจบริการการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการส่งออกได้จับมือกับหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจบันเทิงภาคเอกชน อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ,สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย, สมาคมแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิคแห่งประเทศไทย (TACGA) ฯลฯ ร่วมจัดงาน “Thailand Entertainment Expo 2009” หรือ “งานมหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ครั้งที่ 2” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2552 ที่พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยาม พารากอน โดยวันที่ 16-17 กันยายน 2552 เป็นวัน Trade Days และในวันที่ 18-20 กันยายน 2552 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงาน สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมบันเทิงในเอเชีย รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ซื้อ ผู้ลงทุนจากนานาชาติเกิดความสนใจในธุรกิจบันเทิงของประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น ทั้งงาน ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ งานโฆษณา มัลติมีเดีย และ การ์ตูนแอนิเมชั่น พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการซื้อขายลิขสิทธิ์ต่างๆ ขยายไปยังตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก "ปีที่แล้วถือเป็นปีแรกของการจัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 74 บริษัท 147 คูหา และมีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้น 16,785 คน มีเงินหมุนเวียนจากการสั่งซื้อในงานประมาณ 12 ล้านเดอลล่าสหรัฐ และมีมูลค่าการซื้อ-ขายใน 1 ปี ประมาณ 79 ล้านดอลล่าสหรัฐ ซึ่งปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยสามารถขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้ เป็นการแสดงศักยภาพให้ทั้งผู้ผลิตและผู้สร้างจากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงานได้เห็น หลังจากนั้นจะก่อให้เกิดการร่วมลงทุนและสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศทางธุรกิจบันเทิง รวมถึงความร่วมมือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น” ทั้งนี้ จากศักยภาพของธุรกิจบันเทิงไทย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อบันเทิงต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์ ละคร หรือการให้บริการทางด้านบันเทิง เช่น บริการก่อนการผลิต (Pre-production) บริการการผลิต (Production) บริการหลังการผลิต (Post-production) ตลอดจนการให้บริการแก่กองถ่ายต่างประเทศ ที่เข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย สามารถพัฒนาให้เกิดการจ้างงานและเกิดธุริกจต่อเนื่องในอุตสาหกรรมบันเทิงได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเข้าเงินตราจากต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออกจึงให้การสนับสนุนและส่งเสริมนักธุรกิจไทย ให้มีการส่งออกผลงานไปยังต่างประเทศมากขึ้น และยังกระตุ้นให้นักธุรกิจต่างชาติสนใจผลงาน และเข้ามาใช้บริการธุรกิจบันเทิงในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน “ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ด้วยผู้คนที่เปิดกว้างต่อการรับเอาสื่อบันเทิงทุกรูปแบบ พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความบันเทิงกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ประเทศไทยและบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย สามารถพัฒนาและต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งตอบรับต่อความต้องการตามแนวทางธุรกิจบันเทิงในกระแสโลกได้อย่างลงตัว” นายประมุข กล่าวอีกว่า ไทยมีจุดแข็ง คือ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ และยังมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ในการถ่ายทำ การตัดต่อและล้างฟิล์มที่ทันสมัย ในขณะที่ค่าบริการในการรับจ้างผลิต และค่าแรงงานของไทยถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ นอกจากนี้ ผลงานของคนไทยยังมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการในประเทศด้วยกันเอง ส่งผลให้ผู้ประกอบการตื่นตัวและมีการพัฒนาต่อเนื่อง ด้าน นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย กล่าวว่า เป้าหมายการจัดงานในปีนี้ คือ ความต้องการสร้างให้ประเทศไทย เข้าไปเป็นหนึ่งแผนที่โลกของการจัดงานอุตสาหกรรมบันเทิงให้ประสบความสำเร็จ และยังเป็นการผลักดันให้เกิดการผนึกกำลังกันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจ บันเทิงหลากหลายสาขา ทั้งในส่วนของภาพยนตร์ เพลง แอนิเมชั่น เพื่อสร้างศักยภาพในการนำเสนอผลงานให้กับต่างชาติได้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม และมีความสามารถในหลากหลายสาขาของอุตสาหกรรมบันเทิง นอกจากนี้ ยังต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมกันระหว่างประเทศเอเชีย อาทิ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และเกิดอำนาจต่อรองเทียบเท่ายุโรปและอเมริกา ในรูปแบบของ "ต้มยำเอเชีย" โดยไทยเองต้องพยายามสร้างงานให้มีความแข็งแกร่ง และมีศักยภาพที่เข้มข้น ในขณะเดียวกันเมื่อประเทศพันธมิตรอื่นๆ ของเราต้องการพัฒนาศักยภาพ ไทยก็พร้อมที่จะเข้าร่วมเพื่อผลักดันให้ผลงานบันเทิงของเอเชีย เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้ ไม่แพ้เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะที่ นายลักษณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิคแห่งประเทศไทย (TACGA) กล่าวว่า จากนโยบายของภาครัฐ ที่จะพัฒนาให้ไทยเป็น Creative Economy และการเติบโตของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นทั่วโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การจัดงาน Thailand Entertainment Expo 2009 จึง ถือเป็นการจุดประกายให้เกิดการพัฒนางานในประเทศไทย และยังเป็นการเชิญชวนนักลงทุนชาวต่างชาติ ให้รู้จักประเทศไทยและได้เห็นผลงานของคนไทยมากขึ้น โดยเป้าหมายในเบื้องต้น คือ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแผนที่โลก ของประเทศที่มีศักยภาพในการจัดงานด้านนี้ สำหรับ การที่จะผลักดันให้ประเทศไทย อยู่ในแผนที่โลกของการจัดงานได้ เราต้องพัฒนางานของเราให้มีความเข้มแข็ง ขณะที่รัฐเอง ต้องพยายามผลักดันให้การจัดงานครั้งนี้ เกิดผลทางด้านธุรกิจ เกิดการซื้อขาย เกิดการเจรจาการค้า ไม่ใช่เพียงแค่การโชว์ผลงานเพียงอย่างเดียว ส่วนของสมาคม TACGA เอง จะพยายามผลักดันให้ตลาดแอนิเมชั่นไทยขยายตัวมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 5-6 พันล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ขณะที่ผลงานของคนไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติอยู่แล้ว หากได้รับการส่งเสริมและผลักดันที่ดี จะทำให้ธุรกิจแอนิเมชั่นของไทยเติบโตต่อเนื่องได้ทุกปี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ Cournot and Nash Co., Ltd. ภัทรวดี ใจผ่อง (เอ) ฐปณี จันทคัด (จุ๊) ไอริณ ฤกษะสาร (แนน) sroiyson T. outdoor_pr2007@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ