“สาธารณสุข” รวมพลังอสม. เดินหน้าสนับสนุนการใช้สมุนไพรในครัวเรือน ประเดิมนำร่องจังหวัดสุราษฎร์ฯ ก่อนขยายสู่พื้นที่ทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday July 20, 2009 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และThe Nippon foundation ประเทศญี่ปุ่น เดินหน้าสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในชุมชน จัดโครงการ“อาสาสมัครสาธารณสุขรวมพลังสืบสานการใช้ยาสมุนไพร” หวังให้ประชาชนรู้จักใช้ยาสมุนไพรให้เหมาะสมในรูปแบบใช้ง่ายปลอดภัย สำหรับใช้ประจำครัวเรือน เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันในโรคพื้นๆ หลังพบต้องควักจ่ายปีละกว่า 50,000 ล้านบาท พร้อมสร้างมาตรฐานยา และผลิตภัณฑ์สมุนไพรครบวงจร โดยนำร่องที่จ.สุราษฎ์ธานี เป็นจังหวัดแรก มั่นใจอสม.เป็นสื่อกลางระดับชุมชน ในการเข้าถึงและประชาสัมพันธ์ยาสมุนไพรไทยให้เป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับครัวเรือนต่อไป นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อมูลการนำเข้ายาแผนปัจจุบันของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาปี 2550 ของประเทศไทย พบมีมูลค่าสูงกว่า 60,000 ล้าน บาท ดังนั้น เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในชุมชนอย่างครบวงจร กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการสาธารณสุขแบบพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้นำการแพทย์แผนไทยสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือกมาเป็นส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชน และสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางของกฏหมายสุขภาพแห่งชาติโดยมีส่วนร่วมจากการพัฒนาสาขาต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกภาคส่วน และอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับมากขึ้นเพราะยาสมุนไพรมีประสิทธิภาพในการบำบัดอาการหรือรักษาโรคได้ดีเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน อีกทั้งการส่งเสริมยาสมุนไพรไทยถือเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนสร้างงานสร้างอาชีพ อนุรักษ์ป่าไม้ สร้างรายได้เสริมให้กับคนในท้องถิ่นมีอยู่มีกินเงินทองไม่รั่วไหลไปนอกประเทศ นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึง การจัดทำโครงการ“อาสาสมัครสาธารณสุขรวมพลังสืบสานการใช้ยาสมุนไพร”ว่า โครงการนี้ถือเป็นการเดินหน้าสนันสนุนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างต่อเนื่องของการกระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งนับเป็นต้นแบบส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก The Nippon foundation ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งถือเป็นกลไกของภาครัฐ และมีบทบาทสำคัญใน การดำเนินงานของโครงการฯ รวมถึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับชุมชน และประชาชนในพื้นที่ต่างๆอสม.ทุกคนต้องผ่านการอบรมจากโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในครัวเรือนในประเทศไทย การให้คำแนะนำการใช้ยาสมุนไพรและการเติมยาสมุนไพรให้กับประชาชนในแต่ละครัวเรือนที่อสม.รับผิดชอบ ตลอดจนการสรุปและติดตามการใช้ยาสมุนไพรของประชาชนเพื่อนำมาศึกษาและวิเคราะห์ในโครงการฯต่อไป "ประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โดยเฉพาะสมุนไพรไทย ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีคุณภาพดี เป็นที่นิยมและยอมรับจากนานาชาติ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันในโรคพื้นๆ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และช่วยให้ประเทศชาติพึ่งพิงตนเองได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก" นายแพทย์นรากล่าว สำหรับการดำเนินการ โครงการ“อาสาสมัครสาธารณสุขรวมพลังสืบสานการใช้ยาสมุนไพร”ทำการคัดเลือกตัวแทนออกเป็น 4 ภูมิภาค โดยมี จ. เชียงรายเป็นตัวแทนภาคเหนือ จ. ศรีสะเกษ เป็นตัวแทนภาคอีสาน จ.สุพรรณบุรีเป็นตัวแทนภาคกลาง และ จ. สุราษฎร์ธานี เป็นตัวแทนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นจังหวัดนำร่อง ในการศึกษาวิจัย การประชุมครั้งนี้จะเป็นการสรุปความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของโครงการวิจัยฯ ต่อไป และในโอกาสเดียวกันถือเป็นการส่งสัญญาณถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ทั่วประเทศว่า นับแต่นี้ไปอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขยายผลให้มีการใช้ยาสมุนไพรเป็นยาสามัญประจำบ้านให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการจัดทำพิธีการไหว้ครูและต่อเทียนภูมปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์และสืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย นายแพทย์นรา กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับโครงกาวิจัยนี้ฯ เริ่มจากการคัดเลือกยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ และยาสมุนไพรที่ผลิตโดยโรงพยาบาลของรัฐที่มีการใช้บ่อยจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และปลอดภัยนำมาจัดทำในรูปแบบยาสมุนไพรที่สะดวกใช้ มีไว้ประจำครัวเรือนของประชาชน เพื่อใช้รักษาบรรเทาอาหารเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่พบบ่อย อาทิ เจ็บคอ เป็นไข้ ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย วิงเวียน ท้องผูก ท้องเสีย เป็นต้น โดย ประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร ความปลอดภัย ประสิทธิผลของการรักษา ตลอดจนการจดบันทึกข้อมูลการเจ็บป่วย การบำบัดรักษา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษา รวมทั้งมีการแจกคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในชุมชนไว้ประจำทุกครัวเรือนอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ