กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สหมงคลฟิล์ม
หากจะสรรหาคนทำหนังสักคนเพื่อใช้เป็น ‘ตัวอย่างมีชีวิต’ ของคำกล่าวที่ว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ — คิมคิดุค ผู้กำกับชาวเกาหลีวัย 46 ปีผู้นี้ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเป็นลำดับต้นๆ
ทุกวันนี้นักดูหนังกลุ่มที่ใฝ่หา ‘หนังทางเลือก’ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักคิมคิดุค
เหตุเพราะ นอกจากเขาจะเป็นผู้กำกับที่ขยันสรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้ว หนังของคิมทุกเรื่องยังได้รับคำวิจารณ์ในทางบวก ได้รับเชิญให้ร่วมฉายในเทศกาลหนังดังๆ มากมาย และที่สำคัญ คิมสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวบางอย่างที่ทำให้เขามีแฟนพันธุ์แท้คอยติดตามอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย
คิมคิดุคเกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1960 ที่เมืองบองฮวาซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาหลีใต้ จากนั้นก็ย้ายตามครอบครัวมายังกรุงโซลขณะอายุได้ 9 ขวบ ที่โซล คิมเข้าเรียนในโรงเรียนการเกษตรแห่งหนึ่ง จนกระทั่งอายุได้ 17 ก็พบว่า นั่นไม่ใช่วิถีทางที่เขาต้องการเลยสักนิด คิมจึงตัดสินใจลาออกทั้งที่ยังเรียนไม่จบดี แล้วเริ่มต้นยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเองด้วยการสมัครเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง
3 ปีหลังจากนั้น ขณะอายุได้ 20 คิมคิดุคก็ตัดสินใจพลิกผันเส้นทางชีวิตของตัวเองอีกครั้ง เขาสมัครเข้าประจำการเป็นทหารกองเรือ ซึ่งว่ากันว่า คิมทำหน้าที่ ‘รั้วสมุทร’ ของชาติได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ชีวิตนายทหารของคิมคิดุคก็ยืนยาวอยู่เพียง 2 ปี เขาลาออก หันหลังกลับเพื่อตั้งสติทบทวนความต้องการของตัวเองอีกครั้ง คราวนี้พบว่า แท้จริงแล้วเขาอยากจะเป็นนักบวชต่างหากเล่า (?!)
ไม่ต้องบอกก็คงพอรู้ ท้ายที่สุด ‘นักบวช’ ก็ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของคิมคิดุคอยู่ดี ตรงข้าม เขากลับพบว่า ที่แท้แล้วเขามีฝีไม้ลายมือในทางขีดๆ วาดๆ ใช่หยอก ว่าแล้วคิมคิดุค - ซึ่งขณะนั้นอายุปาเข้าไป 30 แล้ว - จึงฮึดรวบรวมเงินทองทุกบาททุกสตางค์ที่มีอยู่ แล้วมุ่งหน้าสู่ปารีสทั้งที่ไม่รู้แน่ว่าชีวิตที่นั่นจะเป็นอย่างไรเลยด้วยซ้ำ
ที่ปารีส ชีวิตความเป็นอยู่ของคิมคิดุคไม่ได้สุขสบายนัก เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนรูปขายนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีรายได้พอเพียงต่อการประคับประคองปากท้องไม่ให้ต้องหิวโหยจนเกินไปเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์ประการหนึ่งของการไปปารีสหนนี้ก็คือ มันทำให้คิมคิดุคค้นพบความน่าหลงใหลของโลกภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในชีวิต คิมตระเวนดูหนังหลายต่อหลายเรื่อง รู้สึกประทับใจกับหนังอเมริกันเรื่องดังอย่าง The Silence of the Lambs (โจนาธาน เดมมี, 1991) และหนังฝรั่งเศสชั้นยอด The Lovers on the Bridge (เลโอส์ การาซ์, 1991) เป็นพิเศษ
ความชื่นชอบคลั่งไคล้ในสื่อภาพยนตร์ของคิมคิดุคหนนี้ คงจะมากโขอยู่ เพราะหลังจากนั้นเขาก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด และตั้งต้นเขียนบทหนังเพื่อส่งเข้าประกวดทันที ไม่มีตัวเลขระบุแน่ชัดว่า บทหนังที่คิมเขียนส่งประกวดนั้น รวมทั้งสิ้นมีกี่ชิ้นกันแน่ ทว่าสิ่งที่ได้รับการบันทึกไว้ก็คือ ในปี 1993 เขาประสบความสำเร็จในโลกภาพยนตร์เป็นครั้งแรก เมื่อบทหนังเรื่อง A Painter and a Criminal Condemned to Death ได้รับรางวัลชนะเลิศจากสถาบันการศึกษาด้านการเขียนบท (Educational Institute of Screenwriting) และใน 2 ปีต่อเนื่องถัดจากนั้น คือ ในปี 1994 และ 1995 บทหนังเรื่อง Double Exposure ก็คว้ารางวัลที่ 3 และ Jaywalking คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการประกวดที่จัดขึ้นโดยสถาบันภาพยนตร์เกาหลี
รางวัลที่คิมคิดุคได้รับ ส่งผลให้เขาได้รับโอกาสให้ขึ้นแท่น ‘ผู้กำกับ’ ครั้งแรกในชีวิต
Crocodile (หรือ A-go) ผลงานกำกับเรื่องแรกของเขา ออกฉายในปี 1996 ในชั้นแรกมันไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเกาหลีมากเท่าใดนัก ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อหนังได้รับเชิญให้ไปร่วมฉายที่เทศกาลหนังนานาชาติปูซาน และได้รับเสียงชื่นชมท่วมท้น ก็ทำให้ใครต่อใครเริ่มตระหนักว่า ‘คิมคิดุค’ คือคนทำหนังที่แม้จะหน้าใหม่ แต่ก็ไม่อาจละเลย หรือไม่ให้ความสนใจโดยเด็ดขาด
นับแต่นั้นเป็นต้นมา คิมคิดุคก็โหมกระหน่ำผลิตผลงานออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกเรื่องล้วนได้รับคำวิจารณ์ในทางบวก และโด่งดังมากในระดับนานาชาติ
ผลงานทั้งหมดของคิมคิดุค ได้แก่
Wild Animals ออกฉายในปี 1996
Birdcage Inn ในปี 1998 (ได้รับเชิญให้ไปฉายที่เทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน)
Real Fiction และ The Isle ในปี 2000 (เรื่องหลังนี้ได้เข้ามาฉายในบ้านเราด้วย มีฉาก ‘ตกเบ็ด’ ที่เล่นเอาผู้ชมใจหายใจคว่ำกันทั้งโรง และถือเป็นหนึ่งใน ‘ฉากติดตา’ มาจนทุกวันนี้)
Address Unknown กับ Bad Guy ในปี 2001 (เรื่องแรกได้รับเลือกให้เป็นหนังเปิดเทศกาลหนังเวนิส ส่วนเรื่องหลังได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดที่เทศกาลหนังเบอร์ลิน)
The Coast Guard ในปี 2002 (คว้า 3 รางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังนานาชาติคาร์โลวี วารี ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐเชค)
Spring, Summer, Fall, Winter…and Spring ในปี 2003 ถือเป็นหนังซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของคิมคิดุค หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาได้รับการจดจำในฐานะ ‘ผู้กำกับ ดิบ เถื่อน ถ่อย’ มีฉากแรงๆ ที่ดูแล้วติดตาไม่ใช่น้อย อีกทั้งตัวละครส่วนใหญ่ในหนังของเขายังมักเป็นพวก ‘ชีวิตรันทด’ สุดจะบรรยาย ทว่าสำหรับ Spring, Summer, Fall, Winter…and Spring ทุกคนลงความเห็นว่า คิมคิดุคดูจะ ‘เข้าอกเข้าใจชีวิต’ มากขึ้น และเห็นได้ชัดว่า ‘ธรรมะธัมโม’ ยิ่งขึ้น ส่งผลให้หนังเรื่องนี้นำเสนอประเด็นเรื่อง ‘วัฏจักรชีวิต’ ได้อย่างลึกซึ้งคมคายยิ่ง
ในปี 2004 คิมคิดุคมีหนังออกฉาย 2 เรื่องซ้อนอีกครั้ง คือ Samaritan Girl และ 3-Iron ทั้งสองเรื่องได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมและนักวิจารณ์ไม่แพ้ผลงานชิ้นก่อนๆ ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3-Iron นั้น ได้รับการจดจำในฐานะ ‘หนังรัก’ ที่มีบรรยากาศประหลาดล้ำทว่างดงามเอามากๆ เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับ The Bow ผลงานกำกับเกือบล่าสุดของคิมคิดุคที่กำลังจะเข้าโรงฉายในบ้านเรารอมร่อ ถือเป็นอีกหนึ่งงานชิ้นโบว์แดง ที่แฟนเก่าขาประจำของเขา รวมถึงผู้ที่แม้จะไม่เคยดูหนังของเขามาก่อนเลย ไม่ควรพลาดโดยเด็ดขาด
The Bow เล่าเรื่องถึงความสัมพันธ์ของชายเฒ่าเจ้าของเรือตกปลาลำหนึ่ง กับเด็กสาวที่ถูกเขาเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย
เงื่อนปมสำคัญของเรื่องก็คือ ชายชรานั้นตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เด็กสาวอายุครบ 17 เขาจะจับให้เธอแต่งงานกับเขา และจะอยู่ร่วมกันฉันสามี-ภรรยาอย่างผาสุกไปตลอดชีวิต
ที่ผ่านมา อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะราบรื่นดังที่ชายชราปรารถนา แต่แล้วเค้าลางแห่งความหายนะก็อุบัติขึ้น เมื่อวันหนึ่งมีเด็กหนุ่มชาวเมืองคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในเรือ และการได้พบกันกับเขาก็ทำให้เด็กสาวตระหนักว่า แท้จริงแล้วชีวิตของเธอไม่ควรจบสิ้นลงแค่บนเรือลำนั้น - เหมือนดังที่ชายชราทำให้เธอเข้าใจมาทั้งชีวิต
บรรยากาศโดยรวมของ The Bow ค่อนข้างจะเรียบและนิ่งเช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนๆ ของคิมคิดุค ทว่าในความเรียบและนิ่งนั้นก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวบางอย่างที่ทำให้ผู้ชมไม่อาจละความสนใจจากเรื่องราวที่กำลังดำเนินอยู่ได้
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ หนังที่เค้าโครงเรื่องชวนให้คิดว่าเป็นเรื่องรักโรคจิตของตาเฒ่าตัณหากลับเรื่องนี้ แท้จริงแล้วกลับพูดถึงแง่มุมของความรักได้อย่างคมคาย และมีบทสรุปที่สะเทือนใจซาบซึ้ง
เป็นเรื่องรักในโลกเฉพาะ ที่ให้ความรู้สึกเวิ้งว้าง งดงาม และประหลาดล้ำโดยแท้
ล่าสุดนี้ คิมคิดุคเพิ่งจะมีผลงานใหม่ชื่อ Time ที่ได้รับเชิญไปอวดโฉมที่ได้รับเชิญให้ไปอวดโฉมยังเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2006 ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดไปสดๆ ร้อนๆ หลายคนที่ได้ดูหนังแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Time ยังคง ‘เอกลักษณ์’ ของคิมคิดุคที่แฟนๆ ของเขาคุ้นเคยครบทุกประการ
แน่นอน เสียงตอบรับที่ Time รวมทั้งผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดของคิมคิดุคได้รับ สร้างความมั่นใจได้ว่า ชีวิตบนเส้นทางสายภาพยนตร์ของเขา มั่นคงและแข็งแรง
และตัวคิมคิดุคเองก็น่าจะตระหนักแล้วว่า คราวที่มุ่งหน้าจะเอาดีทางงานกำกับหนังเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น...เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดสำหรับเขาแล้ว
พบกับ The Bow ผลงานยอดเยี่ยมที่สุดชิ้นหนึ่งของคิมคิดุค
22 มิถุนายนนี้ ที่ ‘ลิโด’ แห่งเดียวเท่านั้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net