กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติม ผลักดันกิจการด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร และเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ พร้อมส่งเสริมกิจการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และปรับเงื่อนไข IPO หวังดันไทยก้าวเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุน ดังต่อไปนี้
เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจกิจการโรงแรมเพื่อปรับปรุงบริการ
กระตุ้นการลงทุนใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย
เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สร้างงานให้แก่ประชาชน เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในพื้นที่เดิม และในพื้นที่เป้าหมายใหม่ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงแรม และกิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว รวม 3 มาตรการดังนี้
1. ส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพบริการโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวเดิม เพื่อให้กิจการโรงแรมปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานบริการ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 4 ปี โดยจำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่ใช้ในการปรับปรุง ทั้งนี้จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551
2. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ท่องเที่ยวเป้าหมายใหม่ โดยกำหนดให้โครงการต้องตั้งในพื้นที่ตามประกาศของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ที่รัฐบาลกำหนด กรณีเป็นกิจการโรงแรม จะต้องเป็นโรงแรมที่มีมาตรฐานสูง มีห้องพักไม่น้อยกว่า 100 ห้อง และมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ คือ ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี
และ 3. มาตรการปรับสิทธิและประโยชน์ในกิจการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยในกลุ่มกิจการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว จะให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ทุกเขตที่ตั้ง รวมทั้งเพิ่มประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริม คือ กิจการพิพิธภัณฑ์ หอดูดาว และโรงละคร
ส่วนกลุ่มกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และกิจการฟื้นฟูสุขภาพ (ไม่รวมกิจการโรงแรม) โดยหากตั้งในเขต 1 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี แต่หากตั้งในเขต 2 และ 3 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี
ส่งเสริมกิจการโลจิสติกส์ครบวงจร
เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ คณะกรรมการได้เห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมอยู่เดิม ประเภท 7.7 กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย (International Distribution Center) เปลี่ยนเป็น กิจการบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร (Logistics Services Provider) ซึ่งกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องกระจายสินค้าไปต่างประเทศไม่น้อยกว่า 5 ประเทศ และต้องให้บริการอย่างครบวงจร โดยอย่างน้อยจะต้องมีบริการขนส่ง จัดส่ง เก็บรักษา บรรจุ เป็นต้น โดยให้ได้รับ สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปีทุกเขตที่ตั้ง และ 8 ปีหากตั้งในศูนย์โลจิสติกส์ (Logistics Park)
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเห็นชอบให้เปิดให้การส่งเสริมในประเภทกิจการศูนย์โลจิสติกส์ (Logistics Park) โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นคือ มีที่ดินไม่น้อยกว่า 300 ไร่ ต้องมีระบบโทรคมนาคมหลักแบบความเร็วสูง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีทุกเขต
ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโนโลยีทันสมัย
เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศโดยมีโครงการครัวไทยสู่โลกช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การส่งออกสินค้าเกษตร และเพื่อยกระดับการพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น มีต้นทุนการผลิตลดลง มีอัตราการเลี้ยงรอดและปลอดเชื้อโรคสูงขึ้น คณะกรรมการจึงให้การส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อยกระดับการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันได้และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกครั้ง หลังจากที่ระงับให้การส่งเสริมกิจการเลี้ยงกุ้งตั้งปี 2536 เนื่องจากปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะและน้ำเสียจากการทำบ่อเลี้ยงกุ้งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์วิทยา
ทั้งนี้ จัดเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขดังนี้ เป็นโรงเรือนระบบปิดตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ ต้องได้มาตรฐานGAP หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า จะต้องมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (TRACEABILITY) ด้วยระบบ IT
ปรับนโยบาย IPO ใหม่ ดันไทยก้าวเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
คณะกรรมการเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเหลักเกณฑ์ให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ (International Procurement Office) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ในตลาด Aftermarket เพื่อการส่งออก และจูงใจผู้ประกอบการต่างชาติ ให้ตัดสินใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ให้ครอบคลุมถึงเครื่องจักรและแม่พิมพ์สำหรับนำไปใช้ในการจ้างบริษัทอื่นทำการผลิตสินค้าป้อนให้กับตัวเอง ซึ่งจากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะอุปกรณ์ในการจัดเก็บและตรวจสอบสินค้าเท่านั้น ส่งผลให้ไม่จูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนในไทย