ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 21, 2009 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มเป็นลบ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ระดับ ‘C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘3’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+ (tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A+(tha)’ และ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) อันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่ง ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอ BAY ประกาศผลประกอบการของปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิ 4.9 พันล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 4 พันล้านบาทในปี 2550 ถึงแม้ว่าได้มีการตัดจำหน่ายเงินลงทุนใน Collateralised Debt Obligations (CDOs) โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเข้าซื้อกิจการของ AYCAL (เดิมชื่อ GECAL) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 และจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงมา สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ธนาคารประกาศผลกำไรจำนวน 1 พันล้านบาท ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคาร มีการปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.2% ในปี 2551 จาก 3.4% ในปี 2550 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และการลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเหลือ 10%ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551 (16% ณ สิ้นปี 2550) จากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการปรับโครงสร้างหนี้ สัดส่วนของสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 58.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 (45.0% ณ สิ้นปี 2549) แต่ยังคงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70% ฟิทช์มีความเห็นว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงอ่อนแอและระดับการตั้งสำรองที่อยู่ในระดับปานกลาง ธนาคารยังมีความเสี่ยงในเรื่องการตั้งสำรองเพิ่ม แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะชดเชยได้ด้วยรายได้ สภาพคล่องของ BAY อยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (รวมเงินกู้ยืมระยะสั้น) อยู่ที่ 98.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อย่างไรก็ตามการพึ่งพาแหล่งเงินทุนโดยกู้ยืมจากสถาบันการเงินและการออกตราสารหนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2550-2551 เนื่องจากธนาคารมีการเตรียมพร้อมเพื่อการเข้าซื้อกิจการในปี 2551 และต้นปี 2552 ระดับเงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในปี 2550 จากการเพิ่มทุนโดย GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) อย่างไรก็ตามเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 เงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 12.9% และ 15.6% ตามลำดับ การเข้าซื้อ GE Money Thailand อาจทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนลดลงถึง 1.5% อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วระดับเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารมีแนวโน้มเป็นลบ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงของการปรับตัวลดลงทางเศรษฐกิจในปี 2553 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธนาคารในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ผลการดำเนินงาน และอาจรวมถึงเงินกองทุน ปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้แก่ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเมื่อรวมกับการบริหารงานและการสนับสนุนทั้งทางด้านการดำเนินงานและทางการเงินจาก GECIH น่าจะช่วยให้เครือข่ายการดำเนินงาน (franchise) ของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นในระยะกลาง ภายหลังจากที่ธนาคารเข้าซื้อกิจการหลักของ GE Money (สินทรัพย์อยู่ที่ 79.6 พันล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าสินเชื่อรายย่อยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40% ของสินเชื่อรวม BAY ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งสิ้น 583 สาขา และมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อและทางด้านเงินฝากอยู่ที่ 8.2% และ 7.4% ตามลำดับ ธนาคารมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจบริหารกองทุน GECIH เข้ามาเป็นผู้ถือในสัดส่วน 29% ในเดือนมกราคม ปี 2550 และปัจจุบันเพิ่มเป็น 33% กลุ่มรัตนรักษ์มีสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารอยู่ที่ 25% เนื่องจากธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากและสินเชื่อในสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ ติดต่อ: นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, กรุงเทพฯ +662 655 4761; Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759 คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ