กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
สำนักงาน ก.พ. จัดการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องมาตรฐานความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการและจังหวัด โดยเชิญนักวิชาการ นักธุรกิจและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแสดงทัศนะ เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาสมรรถนะการบริหารทรัพยากรบุคคลในภาคราชการ
นางสาววนิดา นวลบุญเรือง รองเลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานเปิดการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องมาตรฐานความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการและจังหวัด โดยสำนักงาน ก.พ. ถือเป็นผู้สร้างและพัฒนาเครื่องมือต้นแบบในการพัฒนาสมรรถนะการบริหารทรัพยากรบุคคลหรือ HR Scorecard ในภาคราชการไทย ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ถือเป็นผู้สร้างเครื่องมือต้นแบบในการพัฒนาสมรรถนะการบริหารทรัพยากรบุคคลดังกล่าว
การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวคิด และวิธีปฏิบัติที่ดี จากนักวิชาการ ผู้บริหารทรัพยากรบุคคลจากภาคเอกชนและผู้แทนส่วนราชการและจังหวัด เนื่องจากสำนักงาน ก.พ.ตระหนักดีว่า ความสำเร็จของการบริหารงานบุคคลในภาครัฐนั้น ต้องเกิดจากการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสำนักงาน ก.พ. ส่วนราชการและจังหวัด ภาคเอกชนและนักวิชาการ เพราะในการพัฒนาระบบและเครื่องมือทางการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลนั้น จำเป็นต้องนำองค์ความรู้จากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิที่ผนวกกับประสบการณ์จากภาคเอกชน โดยนำเอาสภาพปัญหาตลอดจนความต้องการของส่วนราชการและจังหวัด มามาประกอบการพัฒนาอย่างรอบคอบ
นางสาววนิดา นวลบุญเรือง รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า “การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในภาครัฐนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่มีความจำเป็นมากกว่า มิใช่เพียงพัฒนาเท่านั้น หากแต่สามารถวัดผลการพัฒนาและนำไปสู่การวัดผลงานที่เพิ่มขึ้นและดีขึ้นได้ ซึ่งนี่คือภารกิจหลักของการพัฒนาสมรรถนะการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือ HR Scorecard เพราะเครื่องมือชิ้นนี้ จะเป็นเหมือนตัววัด ว่าทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนามีการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ เหมาะสมมากน้อยเพียงใดเพียงใด” โดยรองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวย้ำถึงผลสัมฤทธิ์ของการร่วมมือกันระหว่างภาคราชการ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจ ในการพัฒนาเครื่องมือสำคัญชิ้นนี้ โดยสำนักงาน ก.พ.จะนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาอันเป็นประโยชน์และมุมมองที่หลากหลาก ไปพัฒนาเป็นต้นแบบของมาตรฐานความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการและจังหวัด หรือ HR Scorecard เพื่อนำไปสู่มิติใหม่ในการพัฒนาการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการและจังหวัดต่อไป
อนึ่ง HR Scorecard หรือเครื่องมือในการวัด (Measure) ผลงานขององค์กรด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยรวม เพื่อให้ทราบว่าองค์กรมีสมรรถนะและขีดความสามารถในการบริหารคน สูงต่ำเพียงใด และมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างใดบ้าง อีกทั้งยังช่วยให้ส่วนราชการและจังหวัดทราบถึงสภาพปัญหา และปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารกำลังคนให้สอดคล้องกันทั้งระบบตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับยุทธ์ศาสตร์ จนถึงระดับปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวัดและประเมินด้านการบริหารทุนมนุษย์ใน Balance Scorecard ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน ก.พ.ได้ศึกษาแนวความคิดและพัฒนา HR Scorecard เพื่อนำมาใช้ในระบบราชการไทยมาตั้งแต่ ปี 2546 ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ส่วนราชการและจังหวัดในการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งของสำนักงาน ก.พ.
ในปีแรก คือปีงบประมาณ 2547 มีส่วนราชการสมัครใจเข้าร่วมโครงการนำร่อง 4 แห่ง คือ กรมศุลกากร กรมราชทัณฑ์ สำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงาน ก.พ. ส่วนในปีงบประมาณ 2548 มีส่วนราชการเข้าร่วมโครงการนำร่องเพิ่มอีก 5 แห่ง คือกรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมชลประทาน และสำนักปลัดกระทรวงศึกษา รวมถึงขณะนี้ 8 ส่วนราชการ และในปีงบประมาณ 2549 สำนักงาน ก.พ.ร่วมกับ สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนา ประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการสร้างเครื่องมือ และคู่มือ ที่ส่วนราชการและจังหวัด สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่มีความยุ่งยาก และยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและจังหวัดได้มีส่วนร่วม เนื่องจากจะเป็นผู้นำเครื่องมือและคู่มือเหล่านี้ไปใช้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net