กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เผยคนไทยควรหมั่นปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ระบุหากไม่ทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำน้อยหรือมีความเครียดในชีวิตประจำวัน มีโอกาสเสี่ยงที่จะท้องผูก และถ่ายผิดปกติหรือมีเลือดปนออกมา จนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักได้
นายแพทย์ทรงศักดิ์ กรสุทธิโสภณ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มมีพฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไปเพิ่มมากขึ้นโดยหลายๆคนไม่รับประทานผักผลไม้หรือบางคนดื่มน้ำน้อยมากในแต่ละวันประกอบกับการเกิดความเครียดจากการทำงาน ภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัวและสังคม ส่งผลให้คนไทยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องผูก และถ่ายผิดปกติหรือมีเลือดปนออกมา จนถึงขั้นเป็นโรคโลหิตจางจนต้องให้เลือดทดแทน
ทั้งนี้อาการถ่ายเป็นเลือด เป็นอาการหนึ่งจากสภาวะท้องผูก หรือการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ซึ่งมาจากพฤติกรรมในผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานผัก และผลไม้หรือดื่มน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน รวมถึงภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและตำแหน่งที่เลือดออกว่ามาจากส่วนใด ซึ่งอาจจะเป็นเนื้องอก มะเร็ง หรือริดสีดวงทวารหนัก คือถ้ามีเลือดออกจากลำไส้ใหญ่ส่วนล่างหรือบริเวณทวารหนัก ผู้ที่มีอาการจะเห็นเป็นเลือดสีแดงสดไหลหรือหยดหรือผสมกับอุจจาระที่ออกมา อาการเหล่านี้หากทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่ทำการรักษา อาจนำไปสู่การเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะที่ 3 และ4 ได้
นพ. ทรงศักดิ์ กล่าวว่า โรคริดสีดวงทวารหนักภายในระยะที่ 1 และ 2 ไม่ถือว่าเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่จะเป็นความลำบากสำหรับผู้ป่วยเองในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการที่ผู้ป่วยปล่อยให้โรคริดสีดวงทวารหนักเรื้อรังจนลุกลามไปถึงระยะที่ 3 และ4 เป็นเพราะผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักบางรายส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะไปพบและปรึกษาแพทย์ มักจะเก็บความทุกข์ทรมานจากโรคนี้ไว้ตามลำพังเนื่องจากเกิดความอาย และกลัวกับวิธีการผ่าตัด แต่ปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะที่ 3 และ4 สามารถเลือกที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (Stapled hemorrhoidectomy) หรือที่เรียกว่า PPH (Procedure for prolapsed and hemorrhoid) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนเนื้อยื่นออกมาในปริมาณมาก ซึ่งการรักษาด้วยเครื่องมือดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลงและใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย ไม่มีผลข้างเคียงหลังการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไวกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
การใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ หรือ PPH กับผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะที่ 3 และ4 เป็นวิธีแก้ไขกลไกที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนักโดยตรง ซึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญในการผ่าตัดรักษาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เครื่องมือสอดและถ่างทวารหนัก เครื่องมือช่วยเย็บ และเครื่องมือตัดเย็บหัวริดสีดวง โดยการตัดและเย็บนี้ จะกระทำตามแนวเส้นรอบวงโดยตลอด จึงสามารถตัดหัวริดสีดวงออกได้ทุกหัวและไม่ทำให้รูทวารหนักแคบลง อีกทั้งแนวการเย็บอยู่สูงกว่าเส้นเด็นเต็ท (dentate line) ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดมาเลี้ยง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดน้อยลง
นพ. ทรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยทฤษฏีแล้วโรคริดสีดวงทวารหนักเกิดจากการเลื่อนตัวของเบาะรอง(cushion) ที่อยู่ภายในทวารหนักออกมาภายนอก วิธีการผ่าตัดนี้จะดันเบาะรองกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม และตัดเฉพาะส่วนเกินที่ยื่นออกมาเท่านั้น ไม่ตัดเบาะรองออกทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้วเบาะรองมีประโยชน์ในการทำให้ทวารหนักของคนเราปิดสนิทไม่มีน้ำอุจจาระเล็ดออกมาได้ในระหว่างที่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระ
“ เพื่อป้องกันการเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก หากผู้ป่วยพบว่ามีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายลำบาก อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรังควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการรับประทานอาหาร เน้นผักและผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงอุปนิสัยเบ่งอุจจาระเวลาขับถ่าย ไม่ใช้ยาสวนอุจจาระพร่ำเพรื่อ ซึ่งหากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ป่วยจะมีโอกาสห่างไกลจากโรคริดสีดวงทวารหนัก และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยที่ไม่ต้องพบแพทย์” นายแพทย์ทรงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์ (ปุ้ม) , คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทร. 0-2439-4600 ต่อ 8204 ,8202
อีเมล์ paricharts@corepeak.com , tanasaku@corepeak.com