กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--คต.
กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) จัดสัมมนา “ GSP — Buffet…เปิดลู่ทางการส่งออกภูมิภาคยุโรป ”เน้นการใช้สิทธิพิเศษฯ GSP เบิกทางตลาดหลัก ๆ ในสหภาพยุโรป กำหนดจัดในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552 ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีน พาร์ค กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมสัมมนาฯ ฟรี
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalised System of Preferences : GSP) เริ่มแนวคิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2511 โดยคำแนะนำของคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nation Conference on Trade and Development : UNCTAD) โดยให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากระบบ GSP จากประเทศพัฒนาในแถบนี้ จำนวน 31 ประเทศ แยกเป็น
- สหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ ให้การลดหย่อนและยกเว้นภาษีศุลกากรแก่สินค้าไทยโดยครอบคลุมสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรม และล่าสุดคืนสิทธิฯ แก่สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน
- สวิตเซอร์แลนด์ ให้สิทธิฯ ลดหย่อนภาษีสินค้าเกษตร และยกเว้นภาษีสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ลดหย่อนภาษีฯ ร้อยละ 50 — 75 ของอัตราภาษีปกติ
- ตุรกี ให้สิทธิฯ ลดหย่อนภาษีครอบคลุมสินค้าเกษตร (บางรายการ) และสินค้าอุตสาหกรรมกว่า 2,500 รายการ
- นอร์เวย์ ให้สิทธิฯ ลดหย่อนภาษีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ยกเว้นสินค้าบางรายการในกลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า
- รัสเซีย ให้สิทธิฯ ลดหย่อนภาษีสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมบางรายการ โดยให้การลดหย่อนภาษีศุลกากรร้อยละ 25 จากอัตราปกติ
น.ส.ชุติมาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้กำหนดจัดสัมมนาขึ้นในหัวข้อ “ GSP — Buffet…เปิดลู่ทางการส่งออกภูมิภาคยุโรป” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยมีนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานฯ
สถิติการส่งออกสินค้าไทยไปยังภูมิภาคยุโรป โดยการใช้สิทธิฯ GSP ในปี 2552 (ม.ค. — เม.ย.) สหภาพยุโรป มูลค่า 2,008 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละของมูลค่าการส่งออกไปสหภาพยุโรปทั้งหมดเป็น 58.4 สวิตเซอร์แลนด์ ส่งออก 100.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 40.74 ตุรกี ส่งออก 103.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 65.3 นอร์เวย์ ส่งออก 15.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 46.42 และรัสเซีย ส่งออก 40.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 90.85