กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK) ที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ(tha)) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันชุดที่ 1/2550 จำนวน 3.0 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2553 ของ MBK ที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ(tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มั่นคงของ MBK ในธุรกิจศูนย์การค้าและธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพจาก เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าหลักของบริษัท รวมถึงการเติบโตและความหลากหลายของธุรกิจที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ๆ จุดแข็งของ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้แก่ ทำเลที่ตั้งที่มีปริมาณการสัญจรของผู้ใช้บริการสูง ชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักมายาวนาน และการวางตำแหน่งทางการตลาดที่มีความเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากคู่แข่งขันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งทำให้เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สามารถดึงดูดผู้เช่าและลูกค้าผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลายได้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) จาก เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ คิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ถึงร้อยละ 65 ของ EBITDAR รวมของ MBK
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลงอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รายได้ของผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง แต่รายได้ของผู้บริหารศูนย์การค้าต่างๆ รวมถึง MBK มาจากค่าเช่าจากผู้เช่าพื้นที่ภายใต้สัญญาเช่าที่มีระยะเวลา ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบอย่างทันทีจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ปัจจัยเสี่ยงอื่นทางด้านเครดิตของ MBK ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากการลงทุนทั้งในธุรกิจหลักและหลักทรัพย์เผื่อขาย โดยประมาณร้อยละ 50 ของหลักทรัพย์เผื่อขายเป็นการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MBK การลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าวถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของ MBK เช่นกัน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2552 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2552) แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะอยู่ในภาวะถดถอยและมีความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ แต่รายได้รวมของ MBK ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.4 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีงบการเงินก่อน โดยเป็นผลจากรายได้จากธุรกิจศูนย์การค้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เนื่องจากการรวมงบการเงินของเสรีเซ็นเตอร์ซึ่งบริษัทได้เข้าถือหุ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ในทางกลับกัน รายได้จากธุรกิจโรงแรมลดลงร้อยละ 26 และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีงบการเงินก่อน MBK มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า โดยไม่รวมรายได้จากเงินมัดจำค่าเช่าและรายได้รับล่วงหน้า (Adjusted EBITDAR) จำนวน 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีงบการเงินก่อน ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า โดยไม่รวมรายได้จากเงินมัดจำค่าเช่าและรายได้รับล่วงหน้า ต่อรายได้รวม (Adjusted EBITDAR Margin) ลดลงเล็กน้อยเป็นร้อยละ 33.9 จากร้อยละ 34.6 ในช่วงเดียวกันของปีงบการเงินก่อน
อัตราส่วนหนี้สินของ MBK ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า โดยไม่รวมรายได้จากเงินมัดจำค่าเช่าและรายได้รับล่วงหน้าในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (Adjusted Net Debt to Adjusted Last 12-month (LTM) EBITDAR) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.2 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 (จาก 3.3 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551) เนื่องจากการกู้ยืมเงินที่เพิ่มขึ้นเพื่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเหลือ 3 เท่า ในปีงบการเงิน 2553 เนื่องจากกระแสเงินสดรับจำนวนมากที่คาดว่าจะได้รับจากผู้เช่าซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนสัญญาเช่าจากระยะสั้นเป็นระยะยาว แผนการลงทุนที่มีความยืดหยุ่น รวมทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว สภาพคล่องของ MBK อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 271 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมั่นคงจาก เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า MBK จะสามารถรักษาความยืดหยุ่นทางการเงินและสถานะทางเครดิตที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ในระยะปานกลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการที่อ่อนแอลงและอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น อันเป็นผลจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจที่ยืดเยื้อ หรือการลงทุนโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดการณ์ อาจมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิต ในขณะเดียวกัน กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการขยายธุรกิจและความหลากหลายของธุรกิจที่มีมากขึ้น รวมถึงการมีอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่ต่ำกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง น่าจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิต
หมายเหตุ: การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: สมฤดี ไชยวรรัตน์ +662 655 4762, พิมรำไพ ปันยารชุน +662 655 4752, Vincent Milton, +662 655 4755