วว. สรุปผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2549

ข่าวทั่วไป Friday December 8, 2006 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--วว.
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า จากการที่ วว. ได้ร่วมแรงร่วมใจคิดค้นผลงานวิจัยและพัฒนาในปี 2549 นั้น ผลงานต่างๆ ได้เข้าไปช่วยสร้างความเข้มแข็งของประเทศชาติอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ก่อให้เกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์ สร้างงาน สร้างอาชีพในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
การวิจัยและพัฒนา ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพรไทย...ป้องกันโรคตับ สารสกัดสำคัญจากสมุนไพรไทย 3 ชนิด ได้แก่ พริกไทย ผักบุ้งและขมิ้น มีสรรพคุณในบำรุง ป้องกันพิษจากสารเคมีและพิษจากแอลกอฮอล์ต่อตับ ระบบบาร์โคด..ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าลำไยสดเพื่อการส่งออกเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับระบบจัดการคุณภาพลำไยสดให้มีความสมบูรณ์ ทำให้การค้าขายสินค้าอาหารของเกษตรกรไทย เป็นไปตามระเบียบความต้องการของ EU รวมทั้งสามารถรองรับการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการไปได้ในเวลาเดียวกัน การควบคุมโรคเน่าของผลไม้เขตร้อนหลังการเก็บเกี่ยวด้วยชีววิธี ช่วยทดแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ผลผลิตสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดด้วยก๊าซเอทธิลีน ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดเพื่อการส่งออกด้วยตู้เรือปรับอากาศ ทำให้ผลผลิตที่ตลาดปลายทางมีคุณภาพของเนื้อผลดีขึ้น เครื่องล้างทำความสะอาดและเครื่องหั่นผักผลไม้ มีประสิทธิภาพในการหั่นผักและผลไม้ให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ ด้วยอัตราการผลิต 300-500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ช่วยให้กระบวนการการแปรรูปอาหารได้ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ สะอาดถูกสุขอนามัย
เครื่องหั่นผักใบไฮเทค มีประสิทธิภาพในการหั่นผักใบชนิดต่างๆ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ในภัตตาคาร โรงแรม ร้านอาหารและอุตสาหกรรมอาหาร บรรจุภัณฑ์ต้นแบบขายปลีกพลับสด ช่วยป้องกันความเสียหายของผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีรูปลักษณ์สวยงาม โดดเด่น สะดุดตา มีเอกลักษณ์ มีกราฟิก สะดวกในการหิ้วถือ ชาผักหวานป่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี สารประกอบฟีนอลิค ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน อันเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ อันเนื่องจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย การวิจัยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อิมัลชันทาภายนอกที่ทนทานต่อสาหร่ายในประเทศไทย ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและผลักดันด้านการตลาดอุตสาหกรรมสีไทย ช่วยประหยัดเงินตราด้านค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างสีไปทดสอบในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 10-15 ล้านบาทต่อปี
การถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตเจลขมิ้นชันและสเปรย์ขมิ้นชันสำหรับรักษาโรคผิวหนังสุนัขมีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองของสุนัข วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ หจก.พืชยาไทยอุตสาหกรรมและบริษัทอีโคเว็ท จำกัด เพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ ช่วยลดการนำเข้าเวชภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงปุ๋ย ซึ่งจะมีการตั้งโรงงานปุ๋ยชีวภาพคุณภาพสูงทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 71 อำเภอ อันจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างมูลค่าเพิ่มของวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
ความร่วมมือการวิจัยระดับประเทศ วว. ร่วมดำเนินการวิจัยกับหน่วยงานภายในประเทศดังนี้ โครงการโรงงานสาธิตการผลิตไบโอดีเซลสำหรับชุมชนเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อผลิตไบโอดีเซลที่มีมาตรฐานและคุณภาพสม่ำเสมอ เทียบเท่ากับน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในท้องตลาด , โครงการทดสอบคุณสมบัติแบคทีเรีย Lactobacilli สำหรับการหมักนมเปรี้ยวในการเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติกกับบริษัทดัชมิลล์ จำกัด , โครงการความร่วมมือทางวิชาการวิจัยและพัฒนากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โครงการวิจัยไบโอดีเซลที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศกับปตท.
โครงการศึกษาและทดสอบประสิทธิภาพเครื่องอัลทราซาวด์กายภาพบำบัดกับโรงพยาบาลศิริราชและเครื่องพ่นละอองยาอุลตราโซนิกส์กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า , มอบปุ๋ยชีวภาพอัลจีนัวให้แก่กรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปเพิ่มผลผลิตโครงการพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ , มอบเครื่องผนึกสุญญากาศและเติมแก๊ส ให้แก่โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งตำบล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศรีสะเกษและสระบุรี , โครงการประกวดต้นแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมไทย โดยความร่วมมือกับบริษัทสยามทบพันแพคเกจกิ้ง จำกัด บริษัทสนามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัดและบริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
ความร่วมมือวิจัยระดับนานาชาติ วว. ร่วมกับ UNEP เปิดตัวคู่มือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมเอเชีย ภายใต้โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย-แปซิฟิก , การประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ เภสัชและพลังงานกับ สถาบันวิจัย ITRI สาธารณรัฐไต้หวัน , การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลไม้และผักกับ GTZ ประเทศเยอรมัน
สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร วว. ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรผลงานวิจัยและพัฒนา ดังนี้ สิทธิบัตร จำนวน 16 ผลงาน ได้แก่ สูตรผลิตภัณฑ์เม็ดเสริมอาหารสารสกัดหยาบสมุนไพรรวมสำหรับป้องกันพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ สูตรผลิตภัณฑ์เม็ดเสริมอาหารสารสกัดหยาบสมุนไพรรวมสำหรับป้องกันโรคตับอักเสบ เครื่องลำเลียงผลไม้ทรงกลมเครื่องล้างผักผลไม้ลักษณะผลกลม การผลิตกระดาษทำด้วยมือจากเปลือกทุเรียนด้วยกรรมวิธีโพแทสเซียมแอนทราควิโนน กล่องบรรจุไวน์ วิธีการขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งของผักหวานป่า วิธีการทำชาเขียวจากผักหวานป่า กระบวนการหาปริมาตรอัตราส่วนปูน เพื่อควบคุมต้นทุนและความต้านทานแรงอัดบล็อกประสานให้ได้มาตรฐานที่ต้องการ บล็อกผนังกลวง กระบวนการหาปริมาณน้ำในการผลิตให้บล็อกประสานมีความหนาแน่นสูง ถาดบรรจุขนมไทย เชื้อซัลโมเนลลาที่อ่อนกำลัง เครื่องอัดเม็ดปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเกลียงแนวตั้ง เครื่องทอดอเนกประสงค์กึ่งอัตโนมัติและเครื่องเชื่อมอุลทราโซนิกส์ระบบค้นหาความถี่เรโซเนนท์อัตโนมัติ
อนุสิทธิบัตร จำนวน 11 ผลงาน ได้แก่ การเพิ่มกลีเซอลีนและน้ำผลไม้ในกรรมวิธีการผลิตเนื้อผลไม้อบแห้ง การผลิตซุปเต้าเจี้ยวสาหร่ายเห็ดลาบ การผลิตวุ้นชาเขียวสาหร่ายเห็ดลาบ การผลิตเจลลี่สาหร่ายเห็ดลาบ การผลิตทองแผ่นสาหร่ายเห็ดลาบรสหวาน การผลิตทองแผ่นสาหร่ายเห็ดลาบรสเค็ม การผลิตสาหร่ายเห็ดลาบปรุงรส การผลิตซุปใสสาหร่ายเห็ดลาบ การผลิตผงโรยข้าวจากสาหร่ายเห็ดลาบ การผลิตลาบกึ่งสำเร็จรูปจากสาหร่ายเห็ดลาบและบล็อกประสานแฟนซี
รางวัลเกียรติยศ วว. ได้รับรางวัลต่างๆ ในปี 2549 ดังนี้ รางวัล “กินรี..แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศดีเด่น ปี 2549” จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2549 ประเภทคณะกรรมการบริหารดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง

แท็ก ทศชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ