รัฐ-เอกชน กระตุ้นคนไทยรักการอ่านหนังสือ งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” 29 มีนา — 9 เมษานี้

ข่าวทั่วไป Thursday March 2, 2006 14:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
รัฐ-เอกชน กระตุ้นคนไทยรักการอ่านหนังสือ งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” 29 มีนา — 9 เมษานี้ กระหึ่ม! ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ร่วมผนึกพลังคนไทยผลักดันกรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก (Bangkok for World Book Capital)
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (ส.พ.จ.ท.) ผนึกความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเดินหน้าผลักดัน กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก หรือ Bangkok for World Book Capital 2008 เสนอชื่อเข้าชิงมีนาคมนี้ กระตุ้นคนไทยให้อ่านหนังสือดีๆ ประเดิมงานแรกของปีนี้ “สัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ” ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม — 9 เมษายน 2549 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เชิญชวนชาวไทยรวมพลังสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ตอกย้ำวิสัยทัศน์สร้างสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้
นายธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เผยว่า ในปีนี้ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 34 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 4 Bangkok International Book Fair 2006” ในระหว่างวันที่ 29 มีนาคม — 9 เมษายน 2549 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป รักการอ่านและสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งมีรากฐานสำคัญมาจากการอ่านหนังสือ งานดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีส่วนช่วยส่งเสริมและผลักดันให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็นเมืองหนังสือโลก หรือ Bangkok for World Book Capital ในปี 2008
กิจกรรมภายในงานนอกจากจะมีหนังสือดีจากหลากหลายสำนักพิมพ์แล้ว ยังจัดให้มีนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย พิเศษสุดสำหรับปีนี้ คือ นิทรรศการ “ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” นิทรรศการเทอดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยให้ประชาชนได้แสดงความจงรักภักดีผ่านการเขียนข้อความถวายพระพรลงบน การ์ดรูปต้นโพธิ์ ซึ่งมี 3 สี คือ สีทอง สีเงิน และสีนาค
สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือดีๆ จากนานาชาติ ในปีนี้ได้จัดให้มีการออกบูธจากประเทศรับเชิญ 11 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ที่เป็นไฮไลท์ของงานก็คือการจัดให้มีนิทรรศการแสดงเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับประเทศอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศที่ได้รับเกียรติให้เป็น Country of the year ของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการของกลุ่มประเทศละติน ฉลอง 400 ปี นักเขียนชื่อ มิฆาอัล เซอวัลเต้ (Miguel de Cervantes) ผู้เขียนเรื่อง Don Quixote : Man of la Mancha
“งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานในวันที่ 29 มีนาคมนี้ เวลา 09.00 น. โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูธ 390 ราย จำนวน 832 บูธ บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ซึ่งในงานนี้จะมีหนังสือจากนานาประเทศ และหนังสือออกใหม่จากสำนักพิมพ์ในเมืองไทยมาให้เลือกซื้อกันอย่างจุใจเช่นเคย”
การประกวด World Book Capital เป็นโครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมกิจกรรมการอ่านในระดับเมืองและระดับประเทศของเมืองนั้นๆ และยังส่งผลต่อการส่งเสริมการอ่านในระดับนานาชาติอีกด้วย โดยตั้งแต่ พ.ศ.2544 — ปัจจุบัน มีเมืองที่ได้รับการคัดเลือกทั้งสิ้น 7 เมือง สำหรับประเทศไทยทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เตรียมเสนอชื่อกรุงเทพมหานครเข้าชิง World Book Capital ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาราว 4 เดือนและทราบผล ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันนี้
ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมาทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, กรุงเทพมหานคร, สมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน, มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ฯลฯ จัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2551 ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก
นายทวีศักดิ์ เดชเดโช ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานคร มีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านและมีส่วนร่วมผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น World Book Capital โดยได้มีการขยายและพัฒนางานด้านห้องสมุดประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นและเป็นห้องสมุดมิติใหม่ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ ขณะนี้กรุงเทพฯ มีห้องสมุดอยู่จำนวน 23 แห่ง บ้านหนังสือ 23 แห่ง รถห้องสมุดเคลื่อนที่ 7 คัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2548 และ 2549 ได้มีนโยบายจัดสร้างห้องสมุดจำนวน 10 แห่ง บ้านหนังสืออีก 100 แห่ง และจะจัดสร้างห้องสมุดเพิ่มให้ครบทุกเขต ภายในปี 2551 เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงห้องสมุดอย่างทั่วถึงและร่วมกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสำหรับเด็กและเยาวชน และทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน เปิดเผยว่า “ทางสมาพันธ์ฯ ได้ทำโครงการรณรงค์หนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน มีการแจ้งไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั่วประเทศให้คัดเลือกหนังสือดีๆ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดสรรทำบรรณนิทัศน์ ซึ่งได้ดำเนินการไปครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยคัดเลือกไว้ 500 เล่ม เป็นหนังสือที่มีจำหน่ายในท้องตลาด แบ่งหนังสือตามอายุของกลุ่มเยาวชน พิจารณาจากเนื้อหา และภาพ จุดประสงค์ที่สำคัญของโครงการนี้ก็คือ เพื่อเป็นคู่มือให้ครู บรรณารักษ์ ผู้ปกครอง ฯลฯ ได้เลือกหนังสือดี ได้ตรงตามความต้องการและเหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ทำบรรณนิทัศน์เป็นครั้งที่สอง สำหรับการทำให้กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโกให้เป็น World Book Capital ในปี 2551 จำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ต้องช่วยกันทำให้เต็มที่ แสดงให้เห็นว่าเราผนึกกำลังกันเข้มแข็ง”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็น World Book Capital ในปี 2008 ในนิทรรศการ “เมืองหนังสือ@กรุงเทพ” ในงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” หรือ Bangkok International Book Fair 2006 โดยในวันที่ 29 มีนาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จ พระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน ในเวลา 09.00. ประชาชนสามารถเข้าชมงานได้ในเวลา 12.00 - 21.00 น. และระหว่างวันที่ 30 มีนาคม — 9 เมษายน 2549 เปิดให้ชมงานเวลา 09.00-21.00 น. พิเศษสุดในวันศุกร์ที่ 7 และวันเสาร์ที่ 8 เมษายน ขยายเวลาเข้าชมงานถึงเวลา 23.00 น. ณ ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
นิลธรา มะเดชา, สุขกมล งามสม,ภวิกา ขันทเขตต์
โทรศัพท์ 0 2274 4961-2, 0 2691 6302-4
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ