กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--อุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์
อุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์ ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไทยถึง 900,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 100,000 คน นอกจากนั้นยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศสูงถึง 35-40% และเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตามการเจริญเติบโตของสินค้าประเภท Consumer Electronics ต่างๆที่ต้องมีหน่วยเก็บข้อมูล เช่น เครื่องเล่น MP3 กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือและเครื่องบันทึกวิดีโอแบบดิจิตอล
จากการประมาณการของอุตสาหกรรมคาดว่าในปี 2550 จะมีการผลิตฮาร์ดดิสก์จำนวน 455 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 27.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,096 ล้านล้านบาท) ฮาร์ดดิสก์ที่ผลิตในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 80 ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนดลยีระดับสูง ดังนั้นการรักษาฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ของโลกให้อยู่ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม
ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) ในฐานะผู้ดูแลงานนโยบายและแผน กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีได้วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1. พัฒนามาตรการต่างๆในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและรักษาฐานการผลิตของอุตสาหกรรมนี้ไว้ในประเทศ และ 2 ยกระดับเทคโนโลยีของเอกชนให้มีมาตรฐานการผลิตสูงพอที่จะผลิตชิ้นส่วนป้อนให้แก่ผู้ผลิตระดับโลกที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย โดยอาศัยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยียังจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ในรูปแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อหลัก คือ
1. การพัฒนาอบรมวิศวกรและช่างเทคนิคในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ปีละ 400-600 คนและบุคลากรด้านการวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ปีละ 20 คน
2. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบฮาร์ดดิสก์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีด้านการผลิต (Manufacturing Technology) เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติแยกส่วน (Sub-System)เพื่อการวัดหรือทดสอบ และเทคโนดลยีด้านการบันทึกข้อมูล (Data Storage Technology)
3. การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับฮาร์ดดิสก์ในประเทศและสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
4. การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานนโยบายและการให้การสนับสนุนด้านภาษี
- ศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ในประเทศให้มีทิศทางที่ชัดเจน และมีเอกภาพที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจและถือปฏิบัตืในทางเดียวกัน
- พยายามลดขั้นตอนทางศุลกากร กระบวนการขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนให้มีความสะดวก รวดเร็วขึ้น
- ศึกษาและกำหนดมาตรการสนับสนุนด้านการลงทุนใหม่ๆเพิ่มเติม เพื่อรักษาผู้ประกอบการฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ไว้ในประเทศและดึงดูดผู้ประกอบการใหม่เข้ามารวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการผลิตชิ้นส่วนประกอบเพื่อสนับสนุนการประกอบในประเทศ