สรุปผลการสัมมนาทางวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 6 ประจำปี 2552

ข่าวทั่วไป Friday July 24, 2009 07:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สศค. สรุปผลการสัมมนาทางวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 6 ประจำปี 2552 (ช่วงเช้า วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฏาคม 2552) นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้สรุปผลการสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 6 ประจำปี 2552 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ว่า การสัมมนาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งจากจากภาครัฐบาล เอกชน นักวิชาการ นิสิตและนักศึกษา เป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนกว่า 1,000 คน สำหรับการสัมมนาในช่วงเช้า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์) ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษรวมทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ “ทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ขณะที่ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ภาษีทรัพย์สิน: ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร” และเป็นการนำเสนอผลงานของข้าราชการ สศค. เรื่อง การกันสำรองแบบ Dynamic Provisioning และ กรอบวินัยทางการคลังภาคสาธารณะ รายละเอียดของการสัมมนาวิชาการเศรษฐกิจการคลังครั้งที่ 6 ในช่วงเช้า สรุปได้ดังนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้มาเป็นประธานในการเปิดงานสัมมนาวิชาการ สศค. และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เกี่ยวกับทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกว่า ปัจจัยที่จะนำไปสู่ทางรอดทางเศรษฐกิจของไทยต้องมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) รับรู้ถึงปัญหาและความรุนแรงของปัญหาทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ (2) เข้าใจสาเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง (3) สามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยรัฐบาลได้เข้ามาช่วยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงที่ภาคเอกชนชะลอการใช้จ่าย และ (4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาในภาคปฏิบัติ (Implementation) เป็นประเด็นที่สำคัญมากและต้องอาศัยความสามัคคี และความร่วมแรงร่วมใจของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัย หากสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ ก็จะสามารถผ่าทางตันของวิกฤติครั้งนี้ได้ สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “ทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ได้แก่ (1) ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการแอ๊ดวานซ์อะโกร จำกัด (มหาชน) (2) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) (4) นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ (5) ดร. สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยสรุปประเด็นการเสวนาได้ ดังนี้ - ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ได้แสดงความเห็นเปรียบเทียบ 3 วิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญในอดีตที่ผ่านมา โดยวิกฤตในปี 2520-2529 เกิดจากวิกฤตการณ์น้ำมัน ที่ราคาน้ำมันันเพิ่มขึ้นมากและนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อ ประกอบกับในช่วงดังกล่าวสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก วิกฤติดังกล่าวส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลงเรื่อยๆ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมีอยู่น้อย ประเทศไทยจึงต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ในปี 2540 เกิดจากการเปิดเสรีการเงินขณะที่ยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของไทย ทำให้เงินทุนระยะสั้นไหลเข้าประเทศมาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึงกว่าร้อยละ 8 ของ GDP อย่างต่อเนื่อง จนเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับที่มีสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นสาเหตุทำให้นักเก็งกำไรการเงินเริ่มโจมตีค่าเงินบาทในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลต้องลอยตัวค่าเงินบาท และส่งผลกระทบต่อเนื่องรุนแรงไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2551 แต่ มิได้เริ่มจากประเทศไทย แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ คือ เรื่องความไม่สมดุลของเศรษฐกิจการเงินโลก (Global Financial Imbalance) อันเกิดจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเศรษฐกิจสหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเอเชีย ทำให้เกิดภาวะสภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) สูง ภาวะดอกเบี้ยต่ำาในสหรัฐ นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ที่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี วิกฤติครั้งนี้ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะยังไม่สามารถฟื้นตัวในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศจีน และอินเดียจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและการท้องเที่ยวกับประเทศจีน และอินเดียมากขึ้น - ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ได้กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยในอนาคตมี 3 ด้าน คือ (1) เศรษฐกิจโลกในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจจะเติบโตในช้าเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงปี ค.ศ. 2004-2007 เศรษฐกิจโลกสามารถขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.9 ต่อปี แต่ถ้ามองย้อนไปในอดีตตลอดที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 จะพบว่า เศรษฐกิจโลกขยายตัวเฉลี่ยได้เพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งในอนาคตเศรษฐกิจโลกจะกลับไปสู่การขยายตัวแบบ Long-term Trend ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (2) ความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนขั้วจากประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น) มาเป็นประเทศกำลังพัฒนา (เอเชีย) จะทำให้มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และ (3) ปัญหา Aging Society ที่จะสร้างภาระทางการคลังที่สูงมากในอนาคตทั้งในสหรัฐและประเทศไทย ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งสร้างระบบการออมเพื่อวัยเกษียณต่อไป - นายกงกฤช หิรัญกิจ ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือได้ว่ามีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 940,000 ล้านบาท สำหรับนโยบายการท่องเที่ยวไทยในอนาคต รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นการท่องเที่ยวระยะสั้นมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและเจาะตลาดนักท่องเที่ยวใหม่โดยที่สัดส่วนของนักท่องเที่ยวในอนาคตคาดว่า นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศใน East Asia จะเพิ่มมากขึ้น - ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนสู่โลกาภิวัตน์ที่มีพลวัตรมากขึ้น ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งมีการกระจายไปยังประเทศอื่นๆ จากขั้วเศรษฐกิจเดิมสู่เศรษฐกิจเอเชีย แต่เศรษฐกิจโลกก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน (Globalization of Risk) ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย (Nation’s Competitiveness) ในระยะต่อไปจำเป็นเริ่มต้นจากการสร้างความสมานฉันท์ภายในประเทศ (Nation’s Cohesion) ก่อน โดยต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัยสำคัญ คือ การมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี (Systemic Governance) การสร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม (Acceptable Inequality) การสร้างความเป็นธรรมในสังคม (Fair Treatment) ซึ่งจะนำไปสู่ ความสมานฉันท์ในสังคมที่ยั่งยืน (Shared value system) สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย - นายสมชัย สัจจพงษ์ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้กระทบภาคเอกชนไทยค่อนข้างมาก ดังนั้น ในช่วงที่ภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ ประกอบกับกลไกตลาดยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นโดย การดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล เร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเพื่อสร้างความโปร่งใสทางการคลัง รัฐบาลจะจัดทำ Public Service Account (PSA) เพื่อเป็นการแยกบัญชีสำหรับการปล่อยสินเชื่อของภาครัฐ นอกจากนี้ สศค. ยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศในระยะกลาง - ระยะยาว ซึ่งจะมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยผลักดันให้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบบกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ กฎหมายเครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเน้นนโยบายที่ลดอุปสรรคในปัจจุบัน เช่น แผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐ กฎหมายทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2552 สศค. คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยคาดว่า จะสามารถขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ