“ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน” งานสร้างจิตสำนึก เติมเต็มคุณภาพชีวิตด้วย Food Safety CSR ตัวตน...แบบสถาบันอาหาร

ข่าวทั่วไป Friday July 24, 2009 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ มาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร นับเป็นอาวุธสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยในการยืนหยัดบนเวทีการการค้าโลก และเพื่อให้สมศักดิ์ศรีกับการประกาศตัวเป็นครัวของโลก คงไม่มีอะไรการันตีได้ดีเท่ากับการสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าอาหารของไทยมีความปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ สถาบันอาหารเป็นองค์กรที่มีบทบาทและภารกิจในการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานที่เป็นภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทุกระดับเข้าสู่มาตรฐานสากล ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการดำเนินงานในด้านโครงการ การตรวจวิเคราะห์ งานวิจัย และบริการข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก สถาบันอาหารอยู่ในสังคมมาเป็นปีที่ 13 จึงต้องการเผยแพร่แนวคิดเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้กับสังคมโดยทั่วไปในรูปแบบของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) จากแนวคิดนี้เอง สถาบันอาหารจึงพยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานอาหารขึ้นภายในประเทศ โดยพุ่งเป้าไปที่โรงเรียนในช่วงแรกของการทำ CSR นี้ เพราะรู้ดีว่าในหนึ่งปีเด็กๆ และเยาวชนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนไม่น้อยกว่า 200 วัน ต้องรับประทานอาหารไม่น้อยกว่า 2 มื้อในหนึ่งวัน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ชีวิตของเด็กๆ จะถูกฝากไว้กับความปลอดภัยของครัวโรงเรียน ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งมีโรงอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น อุปกรณ์การทำอาหารไม่ครบหรือไม่สะอาด,อาหารไม่ถูกสุขอนามัยจนเกิดอันตรายกับเด็กนักเรียน ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยที่ประกาศตัวเป็นครัวของโลก โดยเฉพาะภาพการนำเด็กนักเรียนที่เกิดจากอาหารเป็นพิษหรือรับประทานอาหารไม่สะอาดเข้าโรงพยาบาล สถาบันอาหารจึงมีความคิดริเริ่มจัดทำ โครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน” ขึ้น “ผมคิดว่าเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องที่สถาบันอาหารควรให้ความสำคัญ และเมื่อมาพิจารณาถึงบทบาท ภารกิจของสถาบันอาหารเองที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศไทยมีความปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ จึงทำให้เราคิดว่าเราควรมุ่งเน้นการทำ CSR โดยชูประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งต้องผลักดันให้ทุกคนตระหนัก และลึกๆ แล้วเรามุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนเกิดจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร” ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร วางกรอบแนวคิดเรื่อง CSR ของสถาบันอาหาร เติมคุณภาพชีวิตเด็กไทย สร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยของอาหาร โครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน” เกิดจากแนวคิดเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานอาหารของเด็กนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน โดยการพัฒนาปรับปรุงสถานที่ปรุง และสถานที่จำหน่าย รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ความปลอดภัยด้านอาหาร และหลักปฏิบัติตามมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารที่ดีสำหรับครัวในโรงเรียน ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเน้นสนับสนุนทางด้านวิชาการให้คำปรึกษาแนะนำแม่ครัวและอาจารย์ผู้รับผิดชอบดูแลโรงครัวและร้านอาหารในโรงอาหาร โดยเน้นในเรื่องความปลอดภัยของอาหารและสถานที่เป็นหลัก เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบสถานที่ของโรงครัวและ โรงอาหาร การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนรับสินค้า การจัดเตรียม การปรุง และการจำหน่ายให้กับเด็กนักเรียน รวมไปถึงการขั้นตอนการบริโภคของนักเรียน การจัดเก็บภาชนะ การล้างทำความสะอาดภาชนะและอุปกรณ์ ทั้งนี้เป็นไปตามเกณฑ์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก กรุงเทพมหานคร ในการคัดเลือกโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วมโครงการฯ ในช่วงแรกนี้จำนวน 10 โรงเรียน ได้แก่ 1. โรงเรียนสายไหม 2.โรงเรียนวัดพิชัย 3.โรงเรียนวัดบางยี่ขัน 4.โรงเรียนวัดคฤหบดี 5.โรงเรียนวัดพระยาศิริไอยสวรรค์ 6.โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์ 7.โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ 8.โรงเรียนพหลโยธิน 9.โรงเรียนวัดจันทร์สโมสร และ10.โรงเรียนวัดเสมียนนารี “เมื่อเรามีมาตรฐาน มีสถานศึกษาแล้ว เราก็ส่งเจ้าหน้าที่ของเราเข้าไปสำรวจก่อน และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสุขาภิบาลที่ดีสำหรับโรงอาหาร ก็จะมีเกณฑ์พิจารณาว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้จะมีบทบาทของภาครัฐ และภาคเอกชนที่เป็นพันธมิตรในการทำประโยชน์เพื่อสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วม” วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดสำหรับโครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน” ก็คือ การที่ทุกฝ่ายได้มาช่วยกันสร้างการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่อง ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่เด็กนักเรียน บุคลากรผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียน ตลอดจนเด็กนักเรียนอาชีวะเองที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงด้านอาคาร สถานที่ให้แก่ครัวโรงเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องอาหารปลอดภัยให้แก่ประเทศไทยในอีกบทบาทหนึ่ง นอกเหนือไปจากภารกิจหลักที่มุ่งผลักดันไปยังภาคอุตสาหกรรมอาหารมาโดยตลอด ขับเคลื่อน CSR จากภายในด้วยความเชี่ยวชาญของบุคลากร “ผมเข้าใจดีว่า การทำ CSR จะยั่งยืนและดำเนินไปได้ด้วยดีนั้น ต้องเริ่มจากความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา ซึ่งผมมองว่าสถาบันอาหารทำเรื่องของคุณภาพ เรื่องมาตรฐาน เรื่องความปลอดภัย ดังนั้นถ้าเราจะทำกิจกรรมเพื่อสังคมเราก็ควรทำเรื่องที่เรามีความรู้ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยให้บุคลากรของเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากที่สุด เราพยายามผลักดันให้บุคลากรทำโครงการนี้ด้วย จิตอาสา ไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่ จากนั้นเราก็สื่อสารไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งจาก ภาครัฐและภาคเอกชน ให้มาร่วมทำงานเพื่อสังคมกัน ทุกหน่วยงานจะได้ใช้จุดแข็งของตนมาผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ภายในเวลารวดเร็ว ซึ่งผมคิดว่าการทำเรื่องดีๆ มีประโยชน์กับสังคม ควรเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของหลายภาคส่วนจึงจะเกิดผลดีที่สุด” กลไกเชื่อมภาครัฐ-เอกชนร่วมสร้างจิตสำนึกของความปลอดภัยด้านอาหาร สำหรับการดำเนินโครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน” ในระยะแรกนี้ จะมีสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินโครงการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ตรวจรับรอง สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เป็นผู้สนับสนุนโครงการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยนักเรียนอาชีวะในสังกัด เป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขด้านโครงสร้าง อาคาร สถานที่ และผลิตภัณฑ์นม S26 เป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณการดำเนินงานตลอดโครงการ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2552 และมีโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 10 โรงเรียนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร สถาบันอาหารหวังว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ยังด้อยโอกาสในด้านอื่น แต่สามารถมีโอกาสที่ดีในเรื่องความสะอาด และปลอดภัยในการบริโภคอาหาร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขอนามัยให้แก่เด็กไทยได้อีกทางหนึ่ง “โครงการ ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน เป็นโมเดลที่สถาบันอาหารได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยสามารถขยายการดำเนินงานออกไปได้ ช่วงแรกเอกชนอาจมีรายหนึ่ง ต่อมาอาจมีคนสนใจเพิ่มขึ้น อาจแบ่งเป็นภาค เป็นเขต แต่สิ่งที่ผมพยายามจะสื่อ คือ ทุกคนสนใจ ให้ความสำคัญและตระหนักรู้ถึงเรื่องอาหารปลอดภัย ผมมองว่าเบื้องต้นคือโรงเรียน และถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการปลูกฝัง เขาก็จะมีความคิดในเรื่องอาหารปลอดภัยในตัวเขาตลอดเวลา เป็นโครงการที่ผมมุ่งหวังให้มีความต่อเนื่อง ในปีนี้ทำที่กทม. 10 โรงเรียน ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานครในเรื่องของความเป็นเมืองอาหารปลอดภัย แต่ว่าพอเราทำไปก็เหมือนไปจุดประกาย เพราะกทม.มีโรงเรียนอยู่มาก ปีหน้าเราอาจทำต่อเนื่องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผมกำลังมองถึงโรงเรียนในชนบท เด็กทั้งในกลุ่มกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทุกคนเป็นคนไทยที่มีสิทธิได้รับการเข้าถึงครัวโรงเรียนที่มีอาหารปลอดภัยเช่นกัน” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด อัญชลี เชื้อน้อย , สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2158 9416-8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ