สรุปผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 6 ประจำปี 2552 (วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฏาคม 2552)

ข่าวทั่วไป Friday July 24, 2009 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้สรุปผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 6 ประจำปี 2552 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ว่า การสัมมนาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งจากภาครัฐบาล เอกชน นักวิชาการ นิสิตและนักศึกษา เป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนกว่า 1,000 คน สำหรับการสัมมนาในช่วงเช้า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์) ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษรวมทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ “ทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ขณะที่ ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ภาษีทรัพย์สิน: ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร” และเป็นการนำเสนอผลงานของข้าราชการ สศค. เรื่อง การกันสำรองแบบ Dynamic Provisioning และกรอบวินัยทางการคลังภาคสาธารณะ รายละเอียดของการสัมมนาวิชาการเศรษฐกิจการคลังครั้งที่ 6 สรุปได้ดังนี้ 1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้มาเป็นประธานในการเปิดงานสัมมนาวิชาการ สศค. และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เกี่ยวกับทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกว่า ปัจจัยที่จะนำไปสู่ทางรอดทางเศรษฐกิจของไทยต้องมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) รับรู้ถึงปัญหาและความรุนแรงของปัญหาทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ (2) เข้าใจสาเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง (3) สามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยรัฐบาล ได้เข้ามาช่วยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงที่ภาคเอกชนชะลอการใช้จ่าย และ (4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาในภาคปฏิบัติ (Implementation) เป็นประเด็นที่สำคัญมากและต้องอาศัยความสามัคคี และความร่วมแรงร่วมใจของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัย หากสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ ก็จะสามารถผ่าทางตันของวิกฤติครั้งนี้ได้ 2. สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “ทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ได้แก่ (1) ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ แอ๊ดวานซ์อะโกร จำกัด (มหาชน) (2) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) (4) นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ (5) ดร. สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยสรุปประเด็นการเสวนาได้ ดังนี้ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ได้แสดงความเห็นเปรียบเทียบ 3 วิกฤติเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยเผชิญในอดีตที่ผ่านมา โดยวิกฤติในปี 2520-2529 เกิดจากวิกฤตการณ์น้ำมัน ที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมากและนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อ ประกอบกับในช่วงดังกล่าวสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก วิกฤติดังกล่าวส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลงเรื่อยๆ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมีอยู่น้อย ประเทศไทยจึงต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ในปี 2540 เกิดจากการเปิดเสรีการเงินขณะที่ยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของไทย ทำให้เงินทุนระยะสั้นไหลเข้าประเทศมาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึงกว่าร้อยละ 8 ของ GDP อย่างต่อเนื่อง จนเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับที่มีสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นสาเหตุทำให้นักเก็งกำไรการเงินเริ่มโจมตีค่าเงินบาทในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลต้องลอยตัวค่าเงินบาท และส่งผลกระทบต่อเนื่องรุนแรงไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2551 แต่ มิได้เริ่มจากประเทศไทย แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ คือเรื่อง ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจการเงินโลก (Global Financial Imbalance) อันเกิดจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเศรษฐกิจสหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเอเชีย ทำให้เกิดภาวะสภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) สูง ภาวะดอกเบี้ยต่ำในสหรัฐ นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจ ฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ที่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี วิกฤติครั้งนี้ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะยังไม่สามารถฟื้นตัวในอนาคต อันใกล้ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศจีน และอินเดียจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและการท้องเที่ยวกับประเทศจีน และอินเดียมากขึ้น ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ได้กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทย ในอนาคตมี 3 ด้าน คือ (1) เศรษฐกิจโลกในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจจะเติบโตในช้าเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงปี ค.ศ. 2004-2007 เศรษฐกิจโลกสามารถขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.9 ต่อปี แต่ถ้ามองย้อนไปในอดีตตลอดที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 จะพบว่า เศรษฐกิจโลกขยายตัวเฉลี่ยได้เพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งในอนาคตเศรษฐกิจโลกจะกลับไปสู่การขยายตัวแบบ Long-term Trend ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (2) ความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนขั้วจากประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น) มาเป็นประเทศกำลังพัฒนา (เอเชีย) จะทำให้มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และ (3) ปัญหา Aging Society ที่จะสร้างภาระทางการคลังที่สูงมากในอนาคตทั้งในสหรัฐและประเทศไทย ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งสร้างระบบการออมเพื่อวัยเกษียณต่อไป นายกงกฤช หิรัญกิจ ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือได้ว่ามีส่วน สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 940,000 ล้านบาท สำหรับนโยบายการท่องเที่ยวไทยในอนาคต รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นการท่องเที่ยวระยะสั้นมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและเจาะตลาดนักท่องเที่ยวใหม่โดยที่สัดส่วนของนักท่องเที่ยวในอนาคตคาดว่า นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศใน East Asia จะเพิ่มมากขึ้น ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าในเชิง ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนสู่โลกาภิวัตน์ที่มีพลวัตรมากขึ้น ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งมีการกระจายไปยังประเทศอื่นๆ จากขั้วเศรษฐกิจเดิมสู่เศรษฐกิจเอเชีย แต่เศรษฐกิจโลกก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน (Globalization of Risk) ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย (Nation’s Competitiveness) ในระยะต่อไปจำเป็นเริ่มต้นจากการสร้างความสมานฉันท์ภายในประเทศ (Nation’s Cohesion) ก่อน โดยต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัยสำคัญ คือ การมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี (Systemic Governance) การสร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม (Acceptable Inequality) การสร้างความเป็นธรรมในสังคม (Fair Treatment) ซึ่งจะนำไปสู่ ความสมานฉันท์ในสังคมที่ยั่งยืน (Shared value system) สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นายสมชัย สัจจพงษ์ กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้กระทบภาคเอกชนไทย ค่อนข้างมาก ดังนั้น ในช่วงที่ภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ ประกอบกับกลไกตลาดยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นโดย การดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล เร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเพื่อสร้างความโปร่งใสทางการคลัง รัฐบาลจะจัดทำ Public Service Account (PSA) เพื่อเป็นการแยกบัญชีสำหรับการปล่อยสินเชื่อของภาครัฐ นอกจากนี้ สศค. ยังมุ่งเน้นการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งของประเทศในระยะกลาง - ระยะยาว ซึ่งจะมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน โดยผลักดันให้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบบกองทุนการออม เพื่อการชราภาพ กฎหมายเครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเน้นนโยบายที่ลดอุปสรรคในปัจจุบัน เช่น แผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐ กฎหมายทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2552 สศค. คาดว่า จะหดตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยคาดว่า จะสามารถขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 3. สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “ภาษีทรัพย์สิน: ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร” ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ (1) ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2) ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (3) รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (4) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งสรุปได้ดังนี้ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ได้กล่าวถึงปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวและมี การกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน ที่จัดเก็บภาษีบนฐานรายได้ (Income) อัตราไม่สะท้อนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และเป็นการจัดเก็บจากการให้เช่า เป็นหลัก นอกจากนั้นรายได้ที่ท้องถิ่นเก็บได้เองยังมีน้อยและพึ่งตนเองไม่ได้ ดังนั้น จึงเห็นควรปฏิรูปการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อสนับสนุนการจัดเก็บภาษีบนฐานความมั่งคั่ง (Wealth Base) เพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่ถือครอง โดยเก็บบนฐานมูลค่าที่ดิน ที่เป็นปัจจุบัน และตามประเภทของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการปฏิรูปภาษีทรัพย์สินคือ การเพิ่มศักยภาพทางการผลิตผ่านการเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพย์สิน และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากเป็นรายได้ของท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่ความมีอิสระทางการคลัง และการพัฒนาคุณภาพของการบริหารของท้องถิ่นในที่สุด ทั้งนี้ สศค. คาดว่าร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … จะเสนอเข้าครม. โดยเร็วโดยเมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2553 โดยมีการบังคับจัดเก็บจริงประมาณ 2 ปีถัดไป (1 ม.ค. 2555) ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ได้แสดงความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในปัจจุบัน มักมีผู้เข้าใจผิดว่าจัดเก็บจากฐานทรัพย์สิน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นการจัดเก็บจากฐานรายได้ อีกทั้งยังข้อจำกัดเนื่องจากมีอัตราภาษีถดถอย และมีฐานภาษีที่แคบเนื่องจากผู้เสียภาษีมีจำนวนน้อย สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นควรยึดหลักสำคัญได้แก่ (1) หลักผลประโยชน์ (Benefit Principle) การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้นรายได้และประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (2) หลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay Principle) ที่จัดเก็บภาษีจะขึ้นอยู่กับฐานมูลค่าของทรัพย์สินซึ่งสะท้อนถึงหลักของความสามารถในการเสียภาษี ซึ่งการใช้หลักดังกล่าวจะทำให้ลดการเก็งกำไรจากทรัพย์สินและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพย์สินดังกล่าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรมีการยกเว้นให้น้อยที่สุด แต่ควรให้ความสำคัญแก่การมีอัตราที่เหมาะสมตามประเภทของทรัพย์สินและการใช้ประโยชน์ อีกทั้งภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของท้องถิ่นที่มีขนาดแตกต่างกันผ่านการเพิ่มเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางในท้องถิ่นที่จัดเก็บรายได้น้อย เนื่องจากความสามารถในการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินมีความแตกต่างกันตามขนาดของ อปท. ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับการประเมินราคาทรัพย์สินอย่างเป็นธรรมและการประเมินประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของอปท. ควบคู่ไปด้วย รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ได้กล่าวว่า การออกแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูก สร้าง ควรเป็นภาษีที่เก็บจากฐานมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อสะท้อนความมั่งคั่งของท้องถิ่น และความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อออกแบบนโยบายภาษีที่เหมาะสม นอกจากนั้นการใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ต้องมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอโดยต้องไม่ลดประสิทธิภาพการพัฒนาที่ดินของภาคเอกชน สำหรับประโยชน์ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้องกรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น ขณะที่ท้องถิ่นจะมีอิสระในเชิงการคลังมากยิ่งขึ้นทำให้การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองลดลง นอกจากนี้ การเสียภาษีที่ดินจะช่วยกระตุ้นความสนใจในการตรวจสอบจากภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการจัดเก็บบนฐานราคาประเมินจะลดการเก็งกำไรและเปิดโอกาสให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยในการครอบครองทรัพย์สินมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรเตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการภาษีดังกล่าว ทั้งในด้านการจัดเก็บ และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งสร้างการยอมรับจากภาคประชาชนด้วย ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้กล่าวว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็น ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งการสร้างรายได้ภาษีให้แก่ท้องถิ่นคาดว่าจะสูงถึงกว่า 60,000 - 300,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ท้องถิ่นสามารถนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพย์สินของประชาชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากกรณีศึกษาของหลายมลรัฐในอเมริกา พบว่าการจัดเก็บภาษีคุ้มค่าต่อต้นทุนในการจัดเก็บเป็นอย่างมาก ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้มาก ขณะที่คาดว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อภาระภาษีของประชาชนไม่มากนักเนื่องจากมีอัตราค่อนข้างต่ำ อีกทั้งการมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังจะช่วยสร้างความมีส่วนร่วมของ ภาคประชาชนต่อการทำงานของท้องถิ่น ซึ่งสนับสนุนกลไกการตรวจสอบ การเลือกตั้ง และลดการทุจริต รั่วไหลในการบริหารจัดการภายในท้องถิ่นลงได้ นอกจากนั้น ภาษีทรัพย์สิน จะช่วยเพิ่มอุปทานในที่ดินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากการใช้ที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เนื่องจากปราศจากภาระภาษี ซึ่งถือเป็นความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้เมืองก็ต้องขยายออกไปในแนวราบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และส่งผล ต่อการเพิ่มต้นทุนการขยายบริการสาธารณูปโภคออกสู่ชานเมือง ซึ่งสร้างปัญหาและภาระแก่สังคมในส่วนรวม อย่างไรก็ดี ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีประสิทธิภาพต้องสนับสนุนกระบวนการซื้อขายที่ดินที่มีความเปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม โดยผ่านการสร้างฐานข้อมูล ที่เกี่ยวกับที่ดินและทรัพย์สินที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ดินและท้องถิ่นต่อไป 4. สำหรับการเสนอผลงานทางวิชาการในหัวข้อเรื่อง “การกันสำรองแบบ Dynamic Provisioning” หรือการกันสำรองเชิงพลวัตร ซึ่งมีสัดส่วนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ กล่าวคือ การกันสำรองหนี้สูญจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติในช่วงเศรษฐกิจดี ขณะที่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ การกันสำรองหนี้สูญจะถูกปรับให้ลดลงกว่าปกติ โดยเงินสำรองที่กันไว้สำหรับ หนี้สูญ (Provisions) นี้จะถูกกำหนดขึ้นโดยพิจารณาจากยอดสินเชื่อคงค้างในแต่ละรอบบัญชี และการประเมินค่าคาดการณ์ความเสียหายระยะยาว หรือ Long-run expected loss ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การกันสำรองแบบนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความผันผวนที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเท่ากับ การกันสำรองแบบเดิมที่ใช้อยู่ และอาจกล่าวได้ว่า Dynamic Provisioning จะสามารถสร้างกันชน (Buffer) ที่ครอบคลุมค่าคาดการณ์ความเสียหาย (Expected loss) ตั้งแต่เวลาที่ปล่อยกู้ โดยการ กันสำรองหนี้สูญจะเพิ่มขึ้นในช่วงใดก็ตามที่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง (Actual loss) นั้นน้อยกว่า Expected losses ขณะที่การกันสำรองหนี้สูญจะลดลงในปีที่มี Actual loss เกินกว่า Expected loss ทั้งนี้ ข้อดีของ Dynamic Provisioning ได้แก่ ในกรณีที่เศรษฐกิจดี สถาบันการเงิน จะไม่สามารถนำเงินกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นจ่ายออกไปในรูปของเงินปันผลหรือเงินโบนัสที่สูงเกิน ความจำเป็น และการสะสมเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอจะทำให้ไม่ต้องระดมทุนเพิ่มขึ้นในช่วง ที่เศรษฐกิจไม่ดี อันเป็นการลดการพึ่งพาจากภาครัฐและเงินภาษีจากประชาชน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า Dynamic Provisioning อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤติ ทางการเงินที่รุนแรงกว่าการหดตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจโดยทั่วไป อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือแบบจำลองที่นำมาใช้ในการคาดการณ์ Expected loss ต้องมีความแม่นยำสูง และ Dynamic Provisioning จะต้องดำเนินการในช่วงที่เศรษฐกิจดีเพื่อที่จะมีเวลาในการสำรองเงินทุนเพื่อใช้เป็น Buffer ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว 5. สำหรับการเสนอผลงานทางวิชาการในหัวข้อเรื่อง “กรอบวินัยการเงินการคลัง ภาคสาธารณะ” ซึ่งเป็นการนำเสนอ การกำหนดกรอบวินัยทางการคลังเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหา Moral hazard ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนไม่สามารถกำกับดูแลการใช้อำนาจรัฐ ของรัฐบาลได้อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการด้านการคลัง ส่งผลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาด้านความยั่งยืนทางการคลัง และปัญหาเรื่องความโปร่งใสทางการคลัง โดยการรักษาวินัยทางการคลังเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมาภิบาลสากล ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นมิติทางด้านการคลังทั้งหมด 4 มิติ กล่าวคือ ความมีประสิทธิภาพทางการคลัง ความยั่งยืนทางการคลัง ความโปร่งใสทางการคลัง และความรับผิดชอบทางการคลัง จากการศึกษาโดยนำกรอบการประเมินตามมาตรฐานสากลของกองทุน การเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกมาปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานกลางที่ครอบคลุมการประเมินสถานะของวินัยการคลังทั้งรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีตัวชี้วัดตามมิติทั้ง 4 ข้างต้นในลักษณะปริมาณ (Quantitative) มากขึ้น พบว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการคลังของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการจัดหารายได้ การกำกับการใช้จ่าย การตรวจสอบ การรายงาน อยู่ในระดับที่พอใช้ ถึงน่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น อิสระในการแสวงหารายได้ของ อปท. อยู่ในระดับที่ยังสามารถพัฒนาได้ ในอนาคตต่อไป โดยเครื่องมือที่สามารถใช้ในการปรับปรุงตัวชี้วัดเหล่านี้ ประกอบด้วย เครื่องมือทางด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ และเชิงสถาบัน ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เครื่องมือการจัดการ เชิงสถาบัน ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง และใช้เครื่องมือทางกฎหมายในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ ในการกำกับวินัยทางการคลังของประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 167 กำหนดให้มีกฎหมายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งจะเป็นกรอบในการกำกับกรอบวินัยทางการคลังของประเทศ และคาดว่าจะทำให้ระดับของตัวชี้วัดต่างๆ มีการปรับปรุงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ