กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--คต.
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เสนอร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้และการจำหน่ายสารเคมีประเภท Biocidal Products (COM (2009) 267) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการระงับการเติบโตของพืชและเชื้อโรค เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย รวมถึงผลิตภัณฑ์กันแมลง สารฆ่าเชื้อโรค โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2556 นั้น มีสาระสำคัญดังนี้
1. ร่างกฎระเบียบดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดการใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ชนิดที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะสารก่อให้เกิดมะเร็ง สารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ เป็นต้น โดยกำหนดให้ Biocidal Products ที่มีการจำหน่ายและใช้ใน EU ต้องเป็นสารเคมีที่ได้รับอนุญาตจากประเทศสมาชิก EU และคณะกรรมาธิการฯ เท่านั้น โดยจะมีผลทดแทนระเบียบฉบับเดิม (98/8/EC)
2. ร่างกฎระเบียบดังกล่าว ได้เพิ่มกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ (Articles) และวัสดุ (Materials) ที่ผ่านกระบวนการใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ด้วย ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า พรม ไม้ เป็นต้น ซึ่งจะมีผลให้สินค้าดังกล่าวที่ส่งออกไปจำหน่ายใน EU จะต้องใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ชนิดที่ได้รับอนุญาตจาก EU แล้วเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเรื่องการติดฉลากสินค้า โดยจะต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับ (1) ชื่อสารเคมี (Active Substances) ที่หรือรวมกับผลิตภัณฑ์หรือวัสดุนั้นๆ (2) Biocidal Property (หากเกี่ยวข้อง) (3) หมายเลขการอนุญาตการใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์หรือวัสดุ (4) ข้อมูลเตือนภัยจากการอนุญาตการใช้สารเคมี Biocidal Products
3. สารเคมีที่อยู่ใน Annex I และ Annex IA ของระเบียบฉบับเดิม มีสารเพียง 14 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติความเป็นอันตรายของสารแล้ว ถือว่าเป็น Active Substance ที่สามารถใช้ได้ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาสารเคมีอีกจำนวน 350 ชนิด เพื่อทบทวนคุณสมบัติความเป็นอันตรายของสาร ซึ่งอาจมีการปรับเพิ่มรายชื่อสารที่ถือว่าเป็น Active Substanceต่อไป
4. ร่างกฎระเบียบดังกล่าว เพิ่งได้รับการเสนอเพื่อพิจารณาซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบจากสภายุโรปและคณะมนตรียุโรปในระบบ Co — Decision Procedure ต่อไป ซึ่งอาจใช้เวลาในการพิจารณาถึงช่วงปลายปี 2554 หรือในปี 2555 ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้การใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ในปี 2556 ส่วนการบังคับใช้ต่อผลิตภัณฑ์และวัสดุนั้นจะมีช่วงการเปลี่ยนผ่านจนถึงปี 2560
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการทบทวนการอนุญาตให้ใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ภายใน EU จะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตและผู้ใช้สารเคมีชนิดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามร่างข้อกำหนดใหม่ฉบับนี้ ก็อาจจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยัง EU ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และสิ่งทอ นั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบว่าการใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ได้ผ่านขั้นตอนการได้รับอนุญาตจากประเทศสมาชิก EU หรือคณะกรรมาธิการยุโรปแล้วหรือไม่ โดยคณะกรรมาธิการฯ จะมีหน้าที่พิจารณาอนุญาตการใช้สารเคมีประเภท Biocidal Products ว่าเป็นสาร New Active Substance หรือสารที่มีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์และวัสดุดังกล่าวจะต้องมี Authorization Number และการติดฉลากที่มีข้อมูลครบถ้วนเพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าใน EU และเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมการและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://ec.europa.eu/environment/biocides/index.htm