กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--สวทช.
โครงการทำแผนที่และจับคู่นวัตกรรม ( Mapping and Matching Innovation in Selected Agro Sub Sectors ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง TMC (สวทช.) ม.ศิลปากร และ GTZ ของเยอรมันคืบหน้า หลังชาวสวนนครปฐมลงนามซื้อขายพืชผักสด-ผลไม้ร่วมกับ 3 บริษัทเอกชนสำเร็จ นำร่องส่งออกสินค้าเกษตรปลอดภัย อาทิ “กะเพรา-โหระพา” พร้อมเตรียมนำบุคลากรและเทคโนโลยีเข้าช่วยยกระดับสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะที่จังหวัดฯ จัดสรรงบฯ กว่า 15 ล้านบาทพัฒนาพืชผักให้ได้มาตรฐาน GAP และ GMP ขจัดปัญหาสารตกค้างและจุลินทรีย์ปนเปื้อนที่เป็นอุปสรรคต่อสินค้าเกษตรไทย เพิ่มความเชื่อมั่นในการส่งออก ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ มั่นใจ นครปฐมมีศักยภาพพร้อมเป็น “ครัวโลก” และหวังให้คนไทยได้บริโภคอาหารปลอดภัย
“สารพิษตกค้าง” ในพืชผักและผลไม้ส่งออกของไทยยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรและบริษัทส่งออก ที่แม้หลายฝ่ายจะมีความพยายามปรับปรุงคุณภาพให้ตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตรส่งออก แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะล่าสุดยังมีการตรวจพบสารเคมีตกค้างมากถึง 67.5% และพบการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์อีก 45 % ส่งผลให้พืชผักบางชนิดถูกตีกลับจากประเทศผู้ซื้ออยู่เสมอ
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เปิดเผยว่า จากปัญหาสินค้าทางการเกษตรของไทยถูกปฏิเสธจากประเทศคู่ค้าทำให้เกษตรกรและบริษัทส่งออกสินค้าเกษตรไทยได้รับความเสียหาย ด้วยเหตุนี้ในปี 2551 ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำโครงการการทำแผนที่และจับคู่นวัตกรรมในอุตสาหกรรมผักและผลไม้ ( Mapping and Matching Innovation in Fruit and Vegetable Cluster ) โดยมอบหมายให้ ผศ.ดร.บุศรากรณ์ มหาโยธี ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม และโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ให้การสนับสนุน จนนำไปสู่การลงนามซื้อขายพืชผักสดระหว่างกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มบริษัทเอกชนส่งออกสินค้าเกษตร
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการนำเกษตรกรและบริษัทเอกชนให้มาเจอกันโดยมีหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานพร้อมกับนำองค์ความรู้จากนักวิชาการ และผลงานการวิจัยต่างๆ เข้าไปบูรณาการเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ จากการศึกษาอย่างรอบด้านในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง ทราบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีความต้องการที่สอดคล้องกันในเรื่องพืชผักมีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างและการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์
รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ระยะเวลาที่ได้ดำเนินโครงการมา 1 ปีเศษพบว่า การบริหารจัดการพืชผักปลอดภัยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนสร้างผลผลิต ทุกขั้นตอนต้องได้มาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) , หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารให้ปลอดภัยต่อการบริโภค หรือ มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices ) รวมถึงมาตรฐาน Thai GAP ที่ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพเทียบเคียงกับ Eurep GAP (Good Agricultural Practices ) เพื่อป้องกันการกีดกันสินค้าเกษตรไทย
รศ.ดร.สมชาย เปิดเผยอีกว่า ผลการลงนามในสัญญาดังกล่าวจะมีการซื้อขายพืชผักสด 2 ชนิด คือ กะเพรา และโหระพา ซึ่งผลิตโดยกลุ่มเกษตรตำบลห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และ กลุ่มเกษตรกรตำบลหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม โดยมีบริษัทผู้ส่งออกผักและผลไม้ คือ บริษัท วี.เอส.เฟร็ชโก้ จำกัด , บริษัท ภัสพงศ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เอ๊กเซล ฟรุตส์ จำกัด เป็นผู้รับซื้อนำร่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง
“เชื่อว่าการนำความรู้ด้านการจัดการพืชผักปลอดภัยมาพัฒนากระบวนการผลิตของเกษตรกรไทยนี้นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งในอนาคตจะมีผลกระทบที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม ที่ถือว่าจะเป็นการวางมาตรฐานที่ดีไปสู่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดนครปฐมและในกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศ”รศ.ดร.สมชาย กล่าว
นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ความร่วมมือโครงการการทำแผนที่และจับคู่นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย เป็นโครงการที่ดีมากเพราะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงกัน 3 ฝ่าย คือรัฐ เอกชนและเกษตรกร อีกทั้งยังช่วยต่อยอดยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่สากล” ที่จังหวัดนครปฐมกำลังดำเนินการอยู่ให้บรรลุเป้าหมาย โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไปช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งพบว่าประชากรในจังหวัดนครปฐมกว่า 90% ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก โดยมีรายได้เฉลี่ยถึงคนละ 140,000 บาทต่อปี ทำให้ในปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดฯ ได้จัดสรรงบฯกว่า 15 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพพืชผักให้ได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP เนื่องจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 แห่งเป็นบริษัทส่งออกตลาดยุโรปทั้งสิ้น
“ ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจต่อเรื่องสุขภาพมากขึ้น เกษตรกรเองจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อพัฒนาผลผลิตให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน และในอนาคตจะมีการผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชผักอินทรีย์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรที่จะนำมาซึ่งรายได้ที่คุ้มค่าของเกษตรกร ” รองผู้ว่าฯ นครปฐม กล่าว
ด้าน น.ส.ปภาวี สุธาวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การทำแผนที่และจับคู่นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมายที่เกิดขึ้น และนำมาสู่การลงนามข้อตกลงเพื่อซื้อขาย กะเพรา และโหระพา เป็นโครงการนำร่อง ทำให้เกิดซับพลายเชนที่สมบูรณ์แบบ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรจะไม่ถูกกดราคา ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วย
“ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในอนาคต เพราะเชื่อว่าหากมีการส่งเสริมและพัฒนาที่ถูกต้องแล้วเกษตรกรกลุ่มนี้จะเป็นตัวแทนส่งพืชผักที่มีความปลอดภัยและมีมาตรฐาน GAP ที่ถูกต้องรองรับเพื่อส่งขายทั้งในและนอกประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดที่ต้องการให้นครปฐมเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสู่สากล ”
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวอีกว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกร คือ การให้ความรู้เรื่องการขอใบรับรองมาตรฐาน “ GAP ” เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุนตั้งแต่ขบวนการผลิตเพื่อผลักดันสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เกษตรกร และประเทศโดยรวม
นายวีระชัย ประทักษ์วิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.เอส.เฟร็ชโก้ จำกัด เปิดเผยว่า นครปฐมเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งผลิตอาหารใหญ่ที่สุดในภาคกลาง ในแต่ละปีจะมีผลผลิตกระจายส่งไปทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศและส่งจำหน่ายต่างประเทศในปริมาณมาก แต่ขบวนการผลิตยังมีปัญหาด้านการความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตร ส่งผลต่อคุณภาพสินค้า การบันทึกของเกษตรกรตั้งแต่เริ่มต้นซื้อเมล็ดพันธุ์ การใช้ยาปราบศัตรูพืช ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวจึงมีความสำคัญต่อการขอรับรองมาตรฐานพืชผักปลอดภัย
“การทำอาชีพนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนขายไม่ได้ปลูก คนปลูกไม่ได้ขาย จึงต้องมีการพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุป ป้องกันปัญหาเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างบริษัท กับเกษตรกร โดยเฉพาะส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการจดบันทึก และการให้ความรู้เรื่องยาฆ่าแมลง เนื่องจากเชื่อว่ายังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากไม่ทราบว่า สารเคมีตัวใดที่ถูกต่างประเทศขึ้นบัญชีดำบ้าง” นายวีระชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าว ถือว่ามีประโยชน์ทั้งด้านเกษตรกรและบริษัทส่งออก เนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเป็นคนกลางประสานทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน พร้อมให้ความรู้และตรวจสอบคุณภาพพืชผักจะเป็นเครื่องยกระดับพืชผักปลอดภัยไร้สารตกค้างและการปนเปื้อนจุลินทรีย์ได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยขจัดปัญหาสินค้าถูกตีคืนได้
ด้านนายหงษ์ น้อยจีน ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ต.บ้านหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม เปิดเผยว่า เดิมทีเกษตรกรบ้านหนองงูเหลือมทำการเพาะปลูกพืชผักสวนผสมมีทั้ง มะเขือ พริก ถั่ว ผักชี กะเพรา โหระพา และตั้งโอ๋ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพราะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดและรายได้ที่เพิ่มขึ้น จึงชักชวนเพื่อนบ้านที่สนใจกว่า 12 ครัวเรือนเข้าร่วมเป็นสมาชิก ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากเดิม 20 ไร่เป็น 80 ไร่ และการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้นับว่าไม่ผิดหวังเพราะได้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาเข้ามาให้ความรู้ทั้งการใช้ยาปราบศัตรูพืชและการป้องกันการปนเปื้อนจุลินทรีย์ ที่สำคัญผลผลิตที่เข้าร่วมโครงการฯ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านคุณภาพมาตรฐานแก่ผู้ซื้อได้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองจะถดถอย แต่ทุกคนต้องรับประทานอาหารเป็นหลักทำให้การส่งออกผักและผลไม้ของประเทศไทยจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เว้นแต่เพียงมาตรฐานการส่งออกซึ่งกลุ่มประเทศยุโรปได้ออกกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มข้น ทำให้ในหลายๆ ประเทศได้นำมาตรฐาน Eurep GAP มาเป็นมาตรฐานเทียบเคียง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพราะนอกจากจะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้แล้ว ยังมีเม็ดเงินไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงประเทศด้วย
ติดต่อโครงการ iTAP โทร. 02-564-7000
ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 02270-1350-4 ต่อ 104 , 114 และ 115