อาชีพทางเลือกที่สกว. ให้การสนับสนุนการวิจัยที่กำลังเห็นผล และประสบความสำเร็จด้วยดี

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 3, 2006 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สกว.
อาชีพทางเลือกที่สกว. ให้การสนับสนุนการวิจัยที่กำลังเห็นผล และประสบความสำเร็จด้วยดีได้แก่
- ไหมอีรี่
ผลงานที่ได้รับจะเป็นรูปแบบเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงระดับเกษตรกร และถ่ายทอดเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้กลุ่มเกษตรกร 21 กลุ่ม ในจังหวัดขอนแก่น เกษตรกรให้ความสนใจเนื่องจากมีความรู้การเลี้ยงไหมปกติมาก่อน แต่ประสบปัญหาต้นหม่อนเป็นโรค เมื่อหันมาเลี้ยงไหมอี่รี่ซึ่งกินใบมันสำปะหลังที่มีในท้องถิ่นจึงมีความมั่นใจที่จะทดลองเลี้ยง และได้พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงที่สะดวกแก่เกษตรกรมากขึ้นโดยการเพาะเลี้ยงในกระด้ง ซึ่งเกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลอัตราการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตด้วยตนเอง
การพัฒนากรรมวิธี เครื่องมือในการผลิตเส้นไหมอีรี่และผลิตภัณฑ์จากไหมอีรี่ เป็นการยกระดับประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอจากเครือข่ายกลุ่มทอผ้าฝ้ายแกมไหมใน 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยการทดลองหาเทคโนโลยีการปั่นเส้นด้ายไหมอีรี่ในระดับที่เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เอง และใช้ความรู้และเทคนิคที่ได้มาพัฒนาเครื่องมือปั่นเส้นใยสำหรับใช้ในกลุ่มเกษตรกร จากนั้นจะนำเส้นด้ายไหมอีรี่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มโครงการ
- ปูม้า: ทางเลือกอาชีพที่ยั่งยืนของชุมชนประมงชายฝั่ง
ปูม้าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทางตลาดสูง มีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกปูม้าในปี 2548 จำนวน 5,800 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 6,300 ล้านบาท และ 6,875 ล้านบาทในปี 2549 และปี 2550 ปัจจุบันทรัพยากรปูม้าที่มีอยู่ในธรรมชาติมีปริมาณลดลงเนื่องจากการจับสัตว์น้ำชนิดนี้มากเกินกำลังการผลิต โดยในปี 2546 ปริมาณปูที่จับได้จากทะเลมีเพียง 32,400 เมตริกตัน จากที่เคยจับได้ถึง 46,700 เมตริกตันในปี 2541
สกว.ได้สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับปูม้าตั้งแต่ปี 2545 รวมทั้งสิ้น 10 โครงการ ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตลูกพันธุ์ การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ การจัดการทรัพยากรประมง ความหลากหลายทางพันธุกรรม เทคนิคในการเพาะเลี้ยงทั้งการเลี้ยงในคอก ในบ่อดิน การลงทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงปูม้าเชิงธุรกิจรายย่อย การทดสอบและปฏิบัติจริงในพื้นที่บริเวณจังหวัดปัตตานี และเกาะลิบง จังหวัดตรัง โดยใช้กระบวนการวิจัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ชุมชนดังกล่าวได้มีทางเลือกในการปะกอบอาชีพและสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมง รวมทั้งเกิดการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่เหมาะสมและยั่งยืน
รูปแบบที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในการปฏิบัติจริงในพื้นที่ประกอบด้วย 1. การเลี้ยงปูม้าล้อมคอกในทะเลน้ำตื้นด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ 2. ธนาคารปู เพื่อการคืนปูสู่ทะเล โดยนำแม่ปูไข่นอกกระดองเลี้ยงในคอกเพื่อการนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูในรูปแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วม
- แพงโกล่า: อาชีพทางเลือกของเกษตรกรในเขตชลประทาน
ผลงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาการผลิตหญ้าแพงโกล่าเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ของเกษตกรจังหวัดชัยนาท” โดยสกว.ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท 10 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ทุ่งหญ้าสาธารณะรวมกับการเพาะปลูกเดิมที่มีอยู่ของภาคกลางผลิตได้ 5.8 ล้านตันต่อปี ประกอบกับอัตราการเพิ่มปริมาณปศุสัตว์ทำให้คาดว่าจะมีความต้องการหญ้าเพิ่มอีกร้อยละ 10 ต่อปีในอนาคต
นอกจากนี้ผลงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบกับพืชปลูกเดิมที่เกษตรกรทำอยู่พบว่า สามารถให้ผลตอบแทนสุทธิได้ 687 บาทต่อไร่ต่อปี ในขณะที่การปลูกข้าวให้ผลตอบแทนได้ 542 บาทต่อไร่ต่อปี และหากเกษตรกรมีการบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการของตลาด จะสามารถให้ผลตอบแทนสุทธิได้สูงสุดถึง 1,500 บาทต่อไร่ต่อปี โดยมีเกษตรกรได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่ม และเครื่องจักรรวม 8 กลุ่ม หรือ 174 ครอบครัว ในพื้นที่การผลิตรวม 2,336 ไร่
- การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นทางเลือกของชาวนารอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
พื้นที่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อำเภอเกษตรกรสมบูรณ์ จังหวัดชัยนาท เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด แต่โดยลักษณะของภูมิประเทศทำให้เกษตรกรไม่มีโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก เนื่องจากผลิตข้าวได้เพียงปีละครั้ง การเพิ่มรายได้หรือความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรจึงน้อย การพัฒนาผลงานวิจัยเพื่อสร้างโอกาสของเกษตรกรจึงได้มองในประเด็นการเพิ่มประสิทธิภาพต่อการใช้ทรัพยากรที่ดินจากรูปแบบการผลิตใหม่ที่ให้มูลค่าได้สูงกว่าบนฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมการผลิตดั้งเดิม
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ได้วางเป้าหมายในระยะแรกในการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของภาควิชาการที่มีอยู่ว่าเหมาะสมในเชิงพื้นที่และสภาพแวดล้อมหรือไม่ ผลการดำเนินงานในระยะแรกพบว่า สามารถปรับใช้เทคโนโลยีทางวิชาการที่มีอยู่ให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการทำนาปกติเป็นการทำนาผลิตเมล็ดพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 โดยอาศัยความร่วมมือด้านองค์ความรู้จากศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ กรมวิชาการเกษตร และนักวิชาการอิสระที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ และเครือข่ายเกษตรกรที่มีฐานเดิมจากงานด้านอนุรักษ์และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่
ผลของโครงการได้เมล็ดพันธุ์ข้าว 30 ตัน จากเกษตรกร 26 ราย และได้เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมให้ผลผลิตได้ 500 กิโลกรัมต่อไร่ จากค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวเดิมที่ 240-320 กิโลกรัมต่อไร่ และได้รูปแบบการจัดการตนเองของเกษตรกร โดยการจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และจำหน่ายให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลในราคากิโลกรัมละ 13 บาท เพื่อเป็นตัวกลางในการกระจายเมล็ดพันธุ์ไปสู่เกษตรกรทั่วไป ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มจากมูลค่าเพิ่มของผลผลิต ในขณะที่เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวได้หมุนเวียนนำมาใช้ในพื้นที่ของเกษตรกรรายอื่น ๆ ซึ่งมีราคาจำหน่ายที่ถูกกว่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากแหล่งนอกพื้นที่
ในขณะที่โครงการอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่โครงการออกไปอีก 3 อำเภอ รวมเกษตรกร 300 ราย เป็นโครงการ “ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมคุณภาพดี ระยะที่ 2” ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์กว่า 100 ตัน/ฤดู
- การผลิตผักปลอดภัยโดยเกษตรกรรายย่อย
พืชผักเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นโอกาสของเกษตรกรได้ เนื่องจากมีความต้องการบริโภคภายในถึง 3.4 ล้านตันต่อปี และสามารถส่งออกได้มีมูลค่า และแม้ว่าสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อระดับการแข่งขันของไทยในด้านพืชผักก็ตาม แต่หากสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กล่าวคือเกษตรกรมีระบบการผลิตที่ดีอย่างถูกต้องและเหมาะสม(Good Agricultural Practice : GAP) สามารถจัดการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและปริมาณตามที่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศต้องการ
สกว.จึงได้เริ่มโครงการ “ พัฒนาคุณภาพ และผลิตผักปลอดสารพิษในจังหวัดนครปฐม ” เพื่อใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในการปรับรูปแบบการผลิตเดิมที่ทำตามความคุ้นเคยมาเป็นการผลิตในระบบ GAP โดยความร่วมมือกับ บริษัท กำแพงแสนคอมเมอร์เชียล จำกัด ทำสัญญาตกลงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้สื่อสารข้อมูลทางการตลาดให้เกษตรกรรับทราบและปรับปรุงการผลิตได้ทันสภาพการในรูปกลุ่มเกษตรกร
ผลจากโครงการในระยะแรกกลุ่มเกษตรกร 50 ราย ที่ร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มรายละกว่า 1,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน และในระยะต่อไปจะได้ขยายรูปแบบการผลิตโดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล ประจำท้องถิ่นทำหน้าที่สนับสนุนระบบการบริหารจัดการของเกษตรกร และสร้างคู่มือและวิทยากรท้องถิ่น” ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรตามโครงการวิจัยข้างต้นแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากฐานทรัพยากรเดิมพร้อมการดูแลสิ่งแวดล้อมก็นับว่ามีความจำเป็น
เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาการใช้สารเคมีในการปลูกผักตามแหล่งต้นน้ำค่อนข้างมาก สกว.จึงได้เริ่มโครงการ “ การผลิตผักปลอดสารพิษในโรงเรือนตาข่ายกันแมลง จังหวัดเชียงใหม่ ” เพื่อนำเทคโนโลยีต่าง ๆ จากผลงานวิจัยในระยะที่ผ่านมา เช่น การจัดการโรคแมลง การให้น้ำ การจัดการดินและปุ๋ย วิธีการเพาะปลูกในโรงเรือนที่ลดการใช้สารเคมี มาศึกษารูปแบบการผลิตผักร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำในขณะที่สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น โดยร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงการหลวงบ้านแม่โถ จังหวัดเชียงใหม่ ด้านการจัดการเกษตรกรและผู้รับซื้อผลผลิต ผลจากโครงการเกษตรกรสามารถทำรายได้ 7,142 บาทต่อรอบการผลิต ในขณะที่เดิมมีรายได้ 3,239 บาทต่อรอบการผลิต เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์, ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทร 0-2439-4600 ต่อ8203
มือถือ 0-1668-9239
อีเมล์ paricharts@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ