ผลสรุปการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 8เร่งตั้ง กรอ.วท.ผลักดันไทยสู่ Bio Science Hub

ข่าวทั่วไป Monday July 27, 2009 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทย์ฯ สรุปผลการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 8 ระดมสมอง สร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) เพื่อหนุนการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน และผลักดันไทยสู่ Bio Science Hub ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงผลสรุปจาก การประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 8 ที่ผ่านมาว่า การระดมความคิดจากทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ ผู้แทนชุมชน เกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยทำให้ทราบถึงศักยภาพ ปัญหาและอุปสรรคในการนำวทน.ไปใช้ใน 5 ส่วนหลักๆคือ ภาคของเกษตรและอาหาร ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอิเลคโทนิค ภาคอุตสาหกรรมบริการ:โลจิสติกส์และการท่องเที่ยว ภาคชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลาง และภาคการพัฒนากำลังคนด้านวทน. ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สรุปถึงการนำวทน.มาใช้ในภาคเกษตรและอาหารว่า ภาคเกษตรไทยมีภาพเชิงซ้อนคือ การผลิตแบบพอกินพอใช้ และผลิตเพื่อการส่งออก และมีพันธกิจ คือ จะต้องประกันความมั่นคงด้านอาหาร สร้างมาตรฐานชี้วัด รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และที่ต้องคิดเพิ่มในปัจจุบันคือการนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล รวมถึงการแก้ไขสภาพแวดล้อม ซึ่งเรื่องเหล่านี้วทน.เข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเพิ่มการบริการ เพื่อให้เข้าถึงมือเกษตรกรด้วย “การผลิตอาหารในเวทีโลกหนีไม่พ้นเรื่องของวทน.ซึ่งจะต้องมีความพร้อมทางด้าน ISO , Food safety จึงจะทำให้เราเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญได้ เพราะมีความจำเป็นมากในเรื่องการควบคุมการผลิต การเพิ่มคุณภาพผลผลิต เช่น เรื่องข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีภัยคุกคามพอสมควรจากประเทศจีน หากเราไม่ทำอะไรตลาดข้าวหอมมะลิจะเสียไปหรือไม่ ฉะนั้น จึงต้องมาดูเรื่องการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตอาจจะเป็นทางเลือกต่อไป” อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรามีกำลังคนด้านการเกษตรอยู่ 20 ล้านคน แต่มีนักวิจัยด้านการเกษตรเพียง 5,000 คน ยังขาดอีก 15,000 คน มีคำถามต่อมาว่านักวิจัยเราจะนำมาจากที่ไหน ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนเรื่องการผลิตกำลังคน และการสร้างองค์ความรู้เพิ่มขึ้น ส่วน ดร.ชาตรี ศรีไพพรรณ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงข้อเสนอต่อภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอิเล็กทรอนิกส์ว่า สิ่งที่อ่อนแอคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นอุปสรรค ในอนาคตจะมีการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้รุนแรงขึ้น ดังนั้นด้านปิโตรเคมีจึงจำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้งานวิจัยมากขึ้น ฉะนั้นจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการตั้ง R&D fund ขึ้นเพื่อทำงานวิจัยร่วมกัน ส่วนด้านอิเล็กทรอนิกส์นั้นปัญหาคือ มีสินค้าคุณภาพต่ำ ราคาถูกมาตีตลาด ฉะนั้น หน่วยงานที่รับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้ตลาดโลกมีเรื่องกฎระเบียบในการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเราต้องตามให้ทัน และวทน.ต้องรองรับเรื่องเหล่านี้ นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงความเห็นต่ออุตสาหกรรมบริการด้านการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ว่า ธุรกิจด้านนี้ต้องใช้ความเร็ว ซึ่งวทน.จะเป็นตัวช่วยในการแข่งขันความเร็ว ปัญหาสำคัญคือ เรื่องการปรับนำเทคโนโลยีมาใช้ยังไม่เพียงพอ เพราะผู้ประกอบด้านนี้ส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งมีปัญหาเรื่องทุน ฉะนั้นจึงมีข้อเสนอว่าภาครัฐจำเป็นต้องลงทุนเรื่องนวัตกรรมบริการ, ซอฟแวร์ , ฮาร์ดแวร์ และนำไปปรับใช้จากนโยบายสู่รูปธรรม ทั้งนี้ ในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้จะต้องมีการเตรียมคน ดูเรื่องกระบวนการ ความเชื่อมโยงในรูปเครือข่าย ซึ่งต้องมีความพร้อม ด้านวทน.เพื่อชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางนั้น ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ นักวิจัยนโยบาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การสร้างชุมชนวิทยาศาสตร์จะต้องมีองค์ประกอบคือ องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีความเพียงพอในตัวเอง รวมถึงมีการเข้าถึงเทคโนโลยี และถ่ายทอดในชุมชน ซึ่งจะต้องมีการทำงานเป็นเครือข่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ชุมชนคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับวทน.เพื่อต่อยอดและมีการพัฒนาอย่างเหมาะสม “วทน.มีส่วนในการช่วยสร้างงานในรูปของผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาผลผลิต การสร้างสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ และจะต้องมีคุณธรรมควบคู่ไปด้วย โดยมีหลัก 3 ประการคือ จะต้องใช้นวัตกรรมสนับสนุนให้เครือข่ายเข็มแข็ง มีนโยบายวทน.เฉพาะสำหรับวิสาหกิจชุมชนทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยมีนโยบายสนับสนุนการวิจัยของวิสาหกิจชุมชน และการสร้างระบบวทน.ทั้งประเทศและจังหวัดให้มีความสอดคล้องกัน” ดร.สุชาต กล่าว สุดท้ายเรื่องการยกเครื่องการพัฒนากำลังคน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เปิดเผยผลสรุปว่า เรื่องสำคัญของเราคือ การให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนา ค่านิยมในการเรียนวิทยาศาสตร์ของเยาวชนและครอบครัว และสมรรถนะ ยุคนี้เป็นยุคที่ศาสตร์จะต้องมีความเชื่อมโยงกัน เช่น เกษตรต้องเชื่อมกับวิทยาศาสตร์ที่ต้นน้ำ และวิศวกรรมที่ปลายน้ำ ดร.กฤษณพงศ์ ยังเปิดเผยอีกว่า มีข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยจะต้องเป็น Bio Science Hub ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การศึกษาของเด็กที่ต้องมีคุณภาพ ให้เด็กมีความเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิต การศึกษาต้องไม่ทำลายจินตนาการของเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้เสนอแนะในการประชุมจะเป็นโจทย์ตั้งต้นของ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(กรอ.วท.) ที่กำลังดำเนินการจัดตั้ง และประมวลนำเสนอในเชิงนโยบายกับรัฐบาลในลำดับต่อไป พร้อมทั้งจะมีการจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่สู่สังคมในวงกว้างอีกด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ โทร. 0 2354 4466 / โสรยา 081-697-9100

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ