กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--สสวท.
นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่าตามที่สสวท.ได้คัดเลือกและจัดส่งคณะผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2552 จำนวน 4 คน ระหว่างวันที่ 18 - 27 กรกฎาคม 2552 ณ เมืองอ็อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยทำได้ 4 เหรียญเงิน จากฝีมือของ
นายพชรพล สินชัยโรจน์กุล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญเงิน
นางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญเงิน
นางสาวศศิลดา ศิริรุ่งเรือง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญเงิน
นายอลิฟ น้อยคำ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญเงิน
คณะผู้แทนประเทศไทยฯจะเดินทางกลับถึงไทยในวันอังคารที่ 28 กรกฎาคม 2552 เที่ยวบิน เที่ยวบิน TG 917 เวลา 15.05 น. สสวท.จะมีพิธีต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยฯ ตามกำหนดดังกล่าว ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ชั้น 2 ด้านใน ประตูที่ 1
นายพชรพล สินชัยโรจน์กุล (หุ้น) เล่าว่าประทับใจโครงการโอลิมปิกวิชาการที่ทำให้ได้รู้จักเพื่อนๆ หลากหลาย ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับต่างชาติซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ตนเองก็เหมือนเด็กทั่วๆไป ยามอดิเรกก็มีเล่นบาสเก็ตบอล ตีปิงปอง แบดมินตัน อ่านนิยายบ้างซึ่งมีส่วนช่วยให้รู้สึกฝึกฝนศิลปะในการเขียนและสื่ออารมณ์ให้คนอื่นเข้าใจได้ กำลังใจของชีวิตมาจากครอบครัวที่สนับสนุนทุกด้านทำให้แม้ในยามที่ผิดหวังก็ยังมีพลังแก้ไขและเดินหน้าสู้ได้ต่อไป
นางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ (พินพิน) เผยว่าใช้หลักอิทธิบาทสี่ตามแนวทางพระพุทธศาสนาช่วยให้เรียนดีอย่างมีความสุขคือ ฉันทะมีใจรักที่จะเรียน วิริยะโดยทุ่มเทพยายาม จิตตะหมั่นเอาใจใส่สิ่งที่เรียน และวิมังสาคือพยายามไตร่ตรองสิ่งที่เรียนรู้ สรุปว่าถ้ารักที่จะเรียนรู้แล้ว ความเก่งก็ตามมาเองและทำให้ไม่เบื่อวิชาที่ไม่ถนัดด้วย อีกความสุขของพินพินก็คือได้แบ่งปันความรู้ให้เพื่อนๆที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมโดยช่วยอธิบายและลุ้นให้เพื่อนๆ เข้าใจจนหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง สำหรับเวลาว่างชอบเล่นเปียโน ปิงปอง อ่านหนังสืออ่านเล่นที่เป็นวรรณคดีไทยและอังกฤษ
“ อยากให้คุณครูคณิตศาสตร์สอนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ให้เด็กคิดเป็น เสนอวิธีแก้โจทย์ที่นำไปสู่คำตอบหลายวิธี จูงใจให้เด็กฝึกฝนโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ ส่วนวิทยาศาสตร์อยากให้ได้ทดลองจริง ไม่ต้องใช้วัสดุแพงๆ แต่ประยุกต์สิ่งที่มีอยู่มาใช้แทน ชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญของ 2 วิชานี้ และมีจิตวิทยาเด็กเพื่อให้เข้าถึงเด็กๆได้ว่าช่วงวัยใด สนใจอะไร มีสมาธินานแค่ไหน ควรจะสอนอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ ” พินพินเผยใจผู้เรียน
นางสาวศศิลดา ศิริรุ่งเรือง (พาย) เล่าว่าดีใจมากที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย ก่อนไปแข่งขันได้เตรียมความพร้อมโดยอ่านหนังสือและฝึกทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ทางบ้านเปิดกว้างให้เรียนตามที่ตัวเองต้องการทำให้เรียนอย่างมีความสุขและเรียนได้ดีขึ้น อนาคตน้องพายมุ่งหวังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนเคมีอันเป็นวิชาที่ชอบมากพอๆ กับฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษ ส่วนเวลาว่างชอบอ่านนวนิยายแปลเพราะช่วยผ่อนคลายได้ดีทั้งยังได้เรียนรู้สภาพสังคมของต่างประเทศด้วย
ช่วงที่ประทับใจมากคือช่วงเข้าค่ายเคมีโอลิมปิกเพราะอาจารย์ทุ่มเทสอน ได้รับความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา ได้เจอเพื่อนที่มาจากต่างที่กันและต่างรุ่นกันแต่ทุกคนสนใจเรื่องเดียวกัน
นายอลิฟ น้อยคำ (อลิฟ) เผยว่าชอบชีววิทยาที่เปิดโอกาสให้ทำแล็ปแต่ก็ต้องแน่นทฤษฎีเป็นพื้นฐานด้วย ครอบครัวมีบทบาทสำคัญเรื่องการเรียนมาก อย่างเช่นตนเองตอนที่ไม่ขยันคุณแม่ถึงขนาดบางครั้งกระตุ้นด้วยการอ่านหนังสือให้ฟังเลยทีเดียว จึงทำให้ตนยิ่งซาบซึ้งและรีบปรับปรุงแก้ไข ส่วนสิ่งที่ประทับใจจากโครงการโอลิมปิกวิชาการคือได้รู้จักคนมากขึ้น เรียนรู้โลกกว้างขึ้นและเกิดมิตรภาพ
“ตอนอยู่ ม. 3 ซึ่งเป็นช่วงที่ควรอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้าม.4 ตอนนั้นเคยติดเกมจนผมกับคอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่พอเล่นเกมไปแล้วก็เริ่มรู้สึกเบื่อที่จะต้องมานั่งอยู่กับสิ่งที่ไม่มีตัวตนทั้งวัน จึงเลิกเล่นเกมและจากนั้นมาก็ไม่ติดเกมอีกเลย เหมือนคิดได้ว่าเล่นไปก็เท่านั้น ถ้าจะเล่นก็เล่นเฉพาะตอนเบื่อๆ แค่นั้นก็พอแล้ว ” อลิฟเล่าถึงวิธีใช้เวลาอย่างมีคุณค่า