ก.ไอซีที มอบใบอนุญาตผู้ประกอบการ e-Payment 67 ราย

ข่าวทั่วไป Tuesday July 28, 2009 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ก.ไอซีที ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่า หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 ให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับจากวันประกาศ คือ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2552 เป็นต้นมา โดยได้กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประเภทธุรกิจท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ บัญชี ก บัญชี ข และบัญชี ค จะต้องดำเนินการแจ้งให้ทราบ ขอขึ้นทะเบียน หรือขอรับใบอนุญาตแล้วแต่กรณี ส่วนผู้ที่ให้บริการดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลบังคับใช้และประสงค์จะให้บริการต่อไป จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มีนาคม 2552 มิฉะนั้นหากพ้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ผู้ประกอบการจะไม่สามารถให้บริการได้อีก โดยธุรกิจ e-Payment ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนั้นมีทั้งหมด 8 ประเภท และมีผู้ให้บริการที่เข้าข่ายตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังนี้ 1.การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เช่น ไทยสมาร์ทการ์ด ทรูมันนี่ 2.บริการเครือข่ายบัตรเครดิต 3.บริการเครือข่ายอีดีซี 4.บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน 5.บริการหักบัญชี 6.บริการชำระดุล 7. การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผ่านเครือข่าย มีจำนวน 52 ราย อาทิ ธนาคารพาณิชย์ของไทย สาขาธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ ผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน และ 8.บริการรับชำระเงินแทน เช่น Just Pay ของ บมจ.ทีโอที Pay at Post ของ บจ.ไปรษณีย์ไทย เคาน์เตอร์เซอร์วิส AIS pay station, Jaymart Pay point เป็นต้น ซึ่งหากผู้ให้บริการรายใดไม่ดำเนินการแจ้งหรือขึ้นทะเบียนหรือฝ่าฝืนคำสั่งห้ามประกอบธุรกิจ และยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มีโทษปรับหรือจำคุกแล้วแต่กรณี โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกประกาศแต่งตั้งพนักงานของธนาคาร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่พระราชกฤษฎีกาฯ ให้อำนาจไว้ในการเรียกผู้ให้บริการเพื่อให้ข้อมูลและเอกสารใดใดที่เกี่ยวข้อง หากพบผู้ให้บริการรายใดที่มีการฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามกฎหมายกำหนด ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พิจารณามูลค่าความเสียหาย และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวในวันที่ 16 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับแจ้งว่า มีผู้ให้บริการที่เข้าข่ายการควบคุมดูแลที่ได้ยื่นแบบแจ้งให้ทราบ ขอขึ้นทะเบียน และขอรับใบอนุญาต รวมจำนวนทั้งสิ้น 76 ราย แบ่งเป็นการขอขึ้นทะเบียน 8 ราย และขอรับใบอนุญาต 70 ราย ซึ่งมีผู้ให้บริการบางรายประกอบธุรกิจมากกว่า 1 ประเภท ส่วนผู้ให้บริการตามบัญชี ก ที่ต้องยื่นแบบแจ้งให้ทราบนั้นไม่มี ส่วนการสรุปจำนวนใบรับขึ้นทะเบียน และใบอนุญาตแยกตามประเภทธุรกิจนั้น มีผู้ให้บริการตามบัญชี ข ที่ยื่นแบบ ขอใบรับขึ้นทะเบียนจำนวน 8 ราย แบ่งเป็นประเภทธุรกิจสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินระบบเดียว 1 ฉบับ และประเภทธุรกิจ e-Money ที่ใช้ซื้อสินค้าและ/หรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการหลายราย ณ สถานที่ที่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน 7 ฉบับ ขณะที่ผู้ให้บริการตามบัญชี ค ที่ยื่นแบบขอรับใบอนุญาตจำนวน 70 รายนั้น แบ่งเป็นประเภทธุรกิจการให้บริการ หักบัญชี 4 ฉบับ การให้บริการชำระดุล 4 ฉบับ การให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์หรือผ่านทางเครือข่าย 58 ฉบับ การให้บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินหลายระบบ 3 ฉบับ การให้บริการรับชำระเงินแทน 29 ฉบับ และประเภทธุรกิจ e-Money ที่ใช้ซื้อสินค้าและ/หรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน 11 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 109 ฉบับ ส่วนการดำเนินการภายหลังจากที่ผู้ให้บริการได้ยื่นแบบขอรับใบรับแจ้ง หรือใบรับการขึ้นทะเบียนนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าการฯ มอบหมายจะออกใบรับแจ้ง และใบรับการขึ้นทะเบียนให้เมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน ขณะที่การขอรับใบอนุญาตนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของเอกสาร แล้วเสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้พิจารณาเพื่อออกใบอนุญาต “ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอข้อมูลและสรุปผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการธุรกรรมฯ เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจตามประเภทธุรกิจในบัญชี ค จำนวน 70 ราย รวมขอรับใบอนุญาต 109 ฉบับ โดยใช้เกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1.ลักษณะและรูปแบบการให้บริการ 2.คุณสมบัติของนิติบุคคลที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 3.รายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ และ 4.เงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมตามประเภทธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมฯ ได้พิจารณาและออกใบอนุญาตให้ทั้งสิ้น จำนวน 67 ราย เป็นใบอนุญาตจำนวน 102 ฉบับ โดยแบ่งเป็นผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน 33 ราย จำนวนใบอนุญาต 60 ฉบับ และผู้ให้บริการที่ไม่ได้เป็นสถาบันการเงิน 34 ราย จำนวนใบอนุญาต 42 ฉบับ” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว สำหรับการพิจารณาออกใบอนุญาตทั้ง 102 ฉบับนี้ ยังสามารถแบ่งเป็นประเภทธุรกิจได้ดังนี้ 1.ธุรกิจการให้บริการหักบัญชี (Clearing) จำนวน 3 ฉบับ 2.ธุรกิจการให้บริการชำระดุล (Settlement) จำนวน 3 ฉบับ 3. ธุรกิจการให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด หรือผ่านทางเครือข่าย จำนวน 56 ฉบับ 4.ธุรกิจการให้บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินหลายระบบ จำนวน 2 ฉบับ 5. ธุรกิจการให้บริการรับชำระเงินแทน จำนวน 28 ฉบับ และ 6. การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ซื้อสินค้าและหรือรับบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ให้บริการหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน จำนวน 10 ฉบับ “ผู้ให้บริการที่ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตและได้รับการพิจารณาออกใบอนุญาตทั้ง 67 รายนั้น ล้วนเป็นผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และได้ยื่นเอกสารครบถ้วนถูกต้อง รวมทั้งมีความพร้อมในการให้บริการ ตลอดจนมีแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางระบบสารสนเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้พิจารณาออกใบอนุญาตพร้อมทั้งจัดพิธีมอบใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 67 รายในวันนี้” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 141 6747 ทวิติยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ