นักวิทยาศาสตร์เกาหลีแนะไทยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สร้างชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 28, 2009 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--วทน. ดร.ยง อ๊ก อัน นักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก ผู้สร้างประเทศเกาหลีใต้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ชี้บทเรียนให้กับไทยนำ วทน.ช่วยสร้างชาติ พร้อมแนะรัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัด การประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 8 ขึ้นที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยมี ดร.ยง อ๊ก อัน [ Dr.Young-Ok Ahn] ที่ปรึกษาและนักวิจัย จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนาโน มหาวิทยาลัยฮันยาง กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปาฐกถา เรื่อง “สร้างประเทศเกาหลีด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยนำเสนอภาพรวมของแผนพัฒนาประเทศเกาหลีตั้งแต่ฉบับที่ 1ในปี พ.ศ.2505 ถึงฉบับที่ 5 ปี พ.ศ.2525 ดร.ยง อ๊ก อัน กล่าวว่า ในช่วงแรกประเทศเกาหลีใต้วางแผนฯด้วยการทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมการส่งออก จากนั้นในแผนฯฉบับที่ 2 โรงงานปิโตรเคมีได้เกิดขึ้น และอุตสาหกรรมเบาต่างๆได้เริ่มกิจการโดยประยุกต์เทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเกาหลี (KIST)ได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหลัก 20 คน ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศในแต่ละอุตสาหกรรม โดยกลุ่มคนเหล่านี้เป็นวิศวกร นักเคมีประยุกต์ รวมทั้งนักฟิสิกส์ ให้กลับมาร่วมงาน ทั้งนี้ในแผนฯฉบับที่ 3 ได้มีความพยายามสร้างมูลค่ารวมของการส่งออกให้อยู่ในระดับ 100 พันล้านดอลล่าสหรัฐต่อปี ควบคู่กับการสร้างรายได้ต่อประชากรให้ได้ระดับ 1,000 ดอลล่าสหรัฐต่อปี และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมเคมีได้ถูกร่างขึ้น พร้อมการพัฒนากำลังคน ในแผนฯฉบับที่ 4 มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเคมี และบริษัทเอกชนเริ่มเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีการจัดตั้งหน่วยวิจัยขึ้นภายในหน่วยงาน จนมาถึงแผนฯฉบับที่ 5 ในทุกภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีได้เพิ่มขีดความ สามารถเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติ และออกไปตั้งโรงงานยังต่างประเทศ มีการจดสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง “ผมคิดว่าควรยกความสำเร็จที่เกิดขึ้นให้กับบุคคลในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างถูกที่ ถูกเวลา เช่นเดียวกับภาครัฐ และเอกชนที่มาพบกันในแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ฉะนั้น ประวัติการสร้างประเทศเกาหลีใต้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในการสร้างประเทศ และมีนักวิจัยของ KIST หลายคนตัดสินใจมุ่งไปทำงานในสถาบันการศึกษา เพราะต้องการจะสร้างกำลังคนที่มีการศึกษาในระดับสูง ผมอยากบอกว่ากระบวนการพัฒนานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มคนนับพัน แต่เกิดจากคนเพียง 20-30 คน และวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ ทีมงานที่อุทิศตน คิดนอกกรอบ เชื่อว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้” ดร.ยง อ๊ก อัน ย้ำ อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้จะต้องมีการส่งเสริมอย่างจริงจังของรัฐบาลที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถส่งออกได้ เพื่อนำเงินมาพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งการส่งออกไม่ได้เริ่มต้นด้วยการใช้นวัตกรรมทั้งหมด หากแต่ด้วยการผสมผสานกับการลอกเลียนเทคโนโลยีนำเข้าซึ่งต้องใช้ความพยายาม และความรู้อย่างมาก “ประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันได้อยู่ในสถานะที่วิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต ตัวอย่างที่สำคัญคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมจอแสดงภาพ และวิทยาศาสตร์สาขานาโนได้รับความสนใจในวงกว้าง ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ใช้ประเทศญี่ปุ่นเป็นดัชนีเปรียบเทียบการพัฒนาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผมหวังว่า ประเทศเกาหลีใต้จะเป็นตัวอย่างที่ดี และถูกใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบในความพยายามพัฒนาประเทศไทยไปสู่อนาคต” ดร.ยง อ๊ก อัน กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยหลายปัจจัย หนึ่งคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาล และความทุ่มเทของบุคลากรในภาคธุรกิจซึ่งมีความมุ่งมั่นภายใต้คำว่า “ทำได้” รวมถึงการมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรที่ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จ อนึ่ง ดร.ยง อ๊ก อัน คือ หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกของการสร้างประเทศเกาหลีใต้ให้เข็มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ จนกระทั่งทำให้ประเทศเกาหลีใต้สามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ โทร. 0 2354 4466

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ