กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ.เดินหน้า “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อจัดการของเสียเศษอาหาร” ระบุเป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนพ. เผยนำเศษอาหารเหลือใช้เข้ากระบวนการหมักเพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพ กลับมาใช้หุงต้ม มั่นใจช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมดันเป็นต้นแบบตัวอย่างให้สถานประกอบการในท้องถิ่นนำไปประยุกต์ใช้ และสามารถใช้ประกอบการเรียนการสอนแบบปฏิบัติได้จริง รวมทั้งต่อยอดสู่งานวิชาการที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ) ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยให้รับผิดชอบ “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อจัดการของเสียเศษอาหาร” เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เร่งผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสให้สถานประกอบการที่มีศักยภาพ รวมทั้งสถาบันการศึกษา ที่มีเศษอาหารเหลือทิ้งปริมาณตั้งแต่ 200 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไปสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการ และได้รับงบประมาณจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นสถาบันการศึกษาที่มีการนำเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุน และเป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการนำเศษอาหารจากโรงอาหารบริเวณหอพักนักศึกษา วิทยาเขตหาดใหญ่ มาผ่านกระบวนการหมักด้วยถังหมักที่ออกแบบโดยคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วนำก๊าซที่ได้กลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงอาหารต่อไป
โดยถังหมักก๊าซดังกล่าว จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.50 เมตร สูง 2 เมตร มีจำนวน 2 ถัง ต่างจากการหมักก๊าซส่วนใหญ่ที่ใช้ถังเดียว เพื่อสลับใช้หากมีเศษอาหารเต็มถังใดถังหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะเกิดก๊าซขึ้นหลังจากหมักได้ประมาณ 2 -3 วัน และจะมีการทยอยเติมเศษอาหารทุกวันเพื่อจะได้มีก๊าซที่เกิดจากการย่อยสลายใช้ตลอดเวลา ดังนั้น ถังจะต้องตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงอาหารเนื่องจากจะสะดวกในการขนถ่ายเศษอาหาร และการทำท่อลำเลียงก๊าซกลับสู่โรงอาหารอีกครั้งหนึ่ง การออกแบบบ่อหมักก๊าซจึงเป็นระบบปิดซึ่งไม่มีกลิ่น และมีระบบที่ให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์หลายท่านในการออกแบบโครงสร้างถังซีเมนต์ ระบบอัดก๊าซ การควบคุมความดัน และการกวนผสม เป็นต้น
“หากพูดถึงความคุ้มค่าที่เป็นตัวเงิน อาจจะดูว่าประหยัดได้ไม่มากนัก เพราะปริมาณก๊าซที่ได้ในแต่ละวัน จะมีประมาณ 30 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับก๊าซแอลพีจี 15 กิโลกรัม จากเศษอาหาร 280 กิโลกรัม โดยอาจจะได้น้ำและกากที่เกิดจากการหมักที่เป็นปุ๋ยได้อีกส่วนหนึ่ง แต่เรามองผลที่ได้ในเชิงวิชาการมากกว่า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ กล่าว
ผู้รับผิดชอบ “โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อจัดการของเสียเศษอาหาร” กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบัน แม้มีผู้ประกอบการหลายรายนำเทคโนโลยีการหมักก๊าซจากของเสียต่างๆ มาใช้ แต่ในท้องถิ่นยังมีไม่มากนัก ดังนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยซึ่งถือได้ว่า เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ได้มีการจัดทำเป็นตัวอย่าง ก็จะเป็นต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้มาศึกษาดูงาน และนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม ส่วนมหาวิทยาลัยเองนอกจากจะใช้สำหรับประกอบการเรียนการสอนแล้ว ยังสามารถจะพัฒนาต่อยอดไปสู่การวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ศึกษาระยะเวลาในการหมักที่เหมาะสม ศึกษาวัสดุที่นำมาหมักแล้วได้ก๊าซที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาวิจัยเพื่อแยกก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซที่ติดไฟ ออกมาจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากการหมักเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อไปอีกด้วย
เผยแพร่โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 แฟกซ์ 0-2248-7969
e-mail address : c_mastermind@hotmail.com หรือ www.mtmultimedia.com