“สุริวิภา” เหินฟ้าท้าสุวรรณภูมิไปกับครูการบิน อดีตนักบินพระที่นั่ง ปิยะ ตรีกาลนนท์

ข่าวทั่วไป Monday September 25, 2006 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--เจเอสแอล
นักบินเป็นอาชีพหนึ่งที่เด็กผู้ชายใฝ่ฝันถึง หากแต่เส้นทางการเป็นนักบินไม่ได้ง่ายดายนัก และการได้รับความไว้วางใจจนได้รับเลือกให้เป็นนักบินพระที่นั่งก็นับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งไปกว่า แต่สำหรับนาวาอากาศโท ปิยะ ตรีกาลนนท์ วันนี้เขากล้าที่จะบอกกับเยาวชนไทยทั้งชายหญิงว่า การเป็นนักบินไม่ใช่เรื่องยากเหนือบ่ากว่าแรง เพราะมีโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกของไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ด้วยความตั้งใจจะสนองคุณแผ่นดิน ช่วยเร่งผลิตเด็กไทยเป็นนักบินมืออาชีพให้ได้มากที่สุด ซึ่งนักเรียนการบินของเขาได้ร่วมทดสอบสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้วนานนับปี “สุริวิภา” พุธที่ 27 กันยายน ศกนี้ เผยเส้นทางเหินฟ้าของ นาวาอากาศโท ปิยะ ตรีกาลนนท์ ภายใต้ร่มพระบารมี
“ผมเชื่อว่าลึกๆ เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ฝันอยากจะเป็นนักบิน แต่ไม่รู้ว่าการที่เราจะขับเครื่องบินได้ต้องทำอย่างไร ต้องเรียนอะไร ตอนที่ผมไปเรียน ม. 4 โรงเรียนมงฟอร์ต เชียงใหม่ เป็นจุดที่ทำให้ได้สัมผัสเครื่องบินบ่อยขึ้น เครื่องบินผ่านหัวทุกวัน ตกเย็นก็ขับมอเตอร์ไซค์ไปดูเครื่องบิน จนมีอยู่วันนึงเข้าไปกราบสวัสดีกัปตันการบินไทยที่เราแอบสังเกตไว้ เข้าไปถามท่านเลยว่า ผมอยู่ ม. 4 อยากที่จะเป็นนักบินต้องทำยังไง เพราะรู้มาว่าคนสายตาสั้น คนที่เรียนศิลป์ ไม่สามารถที่จะเป็นนักบินได้ ท่านก็บอกว่า มีอยู่ 2 ทาง คือสอนโรงเรียนนายเรืออากาศ และเป็นนักบินให้กองทัพ 10 ปี ก็สามารถที่จะลาออกมาบินตามสายการบินได้ กับอีกแบบหนึ่งคือ เรียนให้จบปริญญาตรีก่อนแล้วสอบที่บริษัทการบินไทย ถ้าสอบได้เขาจะส่งให้ไปเรียนต่อ ส่วนกัปตันที่ผมไปถามท่านจบนายเรืออากาศ จากนั้นมาผมเลยคิดว่าจะต้องสอบเข้าโรงเรียนนายเรืออากาศให้ได้ ซึ่งปรากฏว่าต้องสอบถึง 3 ครั้งจึงผ่าน เพราะแต่ละปีคนสมัครร่วมหมื่นแต่รับเพียง 150 คน และได้สิทธิเป็นนักบินขับเครื่องบินกองทัพอากาศเพียง 90 คน ที่เหลือต้องไปเป็นช่าง เป็นเจ้าหน้าที่ซ่อม เจ้าหน้าที่ดูแลอากาศ บัญชี การเงินของ กองทัพ ซึ่งเขาจะคัดจากพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ดี บุคลิกภาพ และ จิตวิทยาเวชศาสตร์การบิน”
งานแรกของ นาวาอากาศโท ปิยะ สร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองไม่ใช่น้อย ด้วยได้อยู่ร่วมกองบิน 46 พิษณุโลก มีภารกิจทำฝนหลวงรับใช้ชาติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น เข้าประจำการที่ดอนเมือง ขับ C 130 บรรทุกขนส่งตั้งแต่พลร่ม สารเคมี อาวุธ รถถัง รถพระที่นั่ง และ เครื่อง F 16 ไปซ่อมที่อเมริกา “ก่อนที่จะได้ขับเครื่องบินรุ่นที่ใหญ่ขึ้น ต้องเริ่มจากการเป็นนักบินที่ 2 ก่อนเสมอ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ให้เพิ่มมากขึ้นๆ อีก 3 ปีต่อมา ฝูงบิน 602 เปิดรับนักบินพระที่นั่ง แล้วผู้บังคับบัญชาเลือกก็ผม คงด้วยประสบการณ์ความรู้และทักษะต่างๆที่มี ซึ่งผมภูมิใจมากถือเป็นสิ่งที่สูงที่สุดในชีวิต เพราะเครื่องบินพระที่นั่ง โบอิ้ง 737 เป็นเครื่องที่ดีที่สุดในโลก เทคโนโลยี ทันสมัย ความปลอดภัยสูงที่สุด แล้วยังต้องเรียนเพิ่มอีกกับ 18 ประเทศและต้องบินสะสมชั่วโมงบินให้ครบตามกำหนด จึงต้องไปเป็นนักบินยืมตัวของการบินไทย 20 วัน เป็นนักบินกองทัพ 10 วัน”
“ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่ผมได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทแทบทุก พระองค์ ในวันที่ได้ถวายงานให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งส่วนใหญ่ได้ถวายงานตอนเป็นนักบินที่ 2 จำได้ว่า ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาประทับยืนตรงหน้า ผมก็ก้มลงกราบแทบพระบาท ในใจคิดว่าท่านจะเสด็จฯ ผ่านไปแล้ว แต่พอเงยหน้ามา ท่านยังคงประทับอยู่แล้วตรัสว่า สวัสดี เพียงเท่านั้นผมก็รู้สึกภาคภูมิใจ มีกำลังใจในการทำงานมาก สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ท่านก็จะต้องเสด็จมาทักทาย สวัสดีจ๊ะ แล้วเวลาลง ก็ตรัส ขอบใจจ๊ะ ทุกครั้ง บางวันก็จะตรัส วันนี้ลงนิ่มนะ ถ้าไม่นิ่มก็จะบอกว่า สงสัยลมแรงนะ ส่วนสมเด็จพระบรม- โอรสาธิราชฯ ทรงได้สอนสั่งให้คำชี้แนะในการบินโดยตรง วันนั้นมีภารกิจลงที่เชียงใหม่ ไต่ระดับลงถึง 200 ฟิตแล้ว แต่ปรากฏว่ามีภารกิจซ้อนสมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังทรงประทับอยู่บนเครื่องบินที่สนามบิน สมเด็จพระบรมฯ จึงทรงรีบออกคำสั่งให้นำเครื่องขึ้นไปก่อน ถือว่าโชคดีมากๆ ที่ได้รับคำชี้แนะจากพระองค์ท่าน ส่วนสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดา ทรงมีพระจริยวัตรที่งดงามเป็นที่น่าประทับใจเสมอ”
เมื่อมีโอกาสดีเหนือคนอื่นๆ เช่นนี้ แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการรับใช้ เบื้องพระยุคลบาท “ผมเป็นนักบินที่ 1 ประจำเครื่องบินพระที่นั่งได้ 7 ปี ซึ่งระหว่างนั้นก็ต้องทำหน้าที่เป็น ราชองครักษ์ด้วย จึงได้เข้าเฝ้าถวายอารักขาที่พระราชวังไกลกังวลด้วย มีครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านมากที่สุด เพราะเวลาที่ตื่นบรรทม ผมก็จะเป็นคนแรกที่ยืนอยู่ชั้นในสุด เป็นการถวายความปลอดภัยที่สำคัญที่สุดแล้ว ใน 7 วันนั้น มีอยู่วันหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงเปียโน ซึ่งผมก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าด้วย ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ทำให้คิดได้ว่า เราเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่จะได้มีโอกาสอย่างนี้ คิดถึงพ่อแม่ คิดว่าในชีวิตนี้ถึงจุดสุดยอดแล้ว ตั้งแต่นั้นมาไม่มีอะไรที่จะภูมิใจเหนือไปกว่านี้ ความคิดต่างๆ ก็เปลี่ยนไป จากที่เคยคิดแสวงหาอะไรมากมาย ก็เริ่มคิดว่าเราน่าจะทำอะไรที่ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่แล้วเกิดประโยชน์ ก็คิดว่าน่าจะเป็นครูดีกว่า เพราะผ่านมา 18 ประเทศได้เห็นโรงเรียนสอนการบินมาทั่วโลก ได้เป็นนักบินพระที่นั่งแม้เราไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดในประเทศไทย แต่เราก็อยากให้เด็กไทยได้เป็นนักบินมากที่สุด เพราะทั้งโลกจำเป็นต้องผลิตนักบิน 5,000 คนต่อปี แต่เราผลิตได้แค่ 80 คนต่อปี ทั้งที่ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศและจำนวนสนามบินเอื้ออำนวย เลยตัดสินใจชวนเพื่อนที่มีความสามารถมาร่วมกันเปิดโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกของไทย คือ บางกอก เอวิเอชั่น เซนเตอร์ BAC ให้เด็กไทยได้มีทางเลือกมากขึ้นในอัตราค่าเล่าเรียนที่เท่ากัน”
สุริวิภา” จึงได้มีโอกาสนั่งเครื่องบินเล็กเหินฟ้าจากสนามบินดอนเมือง เพื่อไปเยือนสนามบินสุวรรณภูมิกับนักบินของ BAC “ผมมีส่วนร่วมในการทดสอบสนามบินสุวรรณภูมิ ยืนยันว่าพร้อม 100 % ครับ ก่อนหน้านี้ ดร.ศรีสุข จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ท่านต้องการฝึกเจ้าหน้าที่ทุกส่วนทุกระบบ ทั้งหอบังคับการบิน เครื่องช่วยเดินอากาศ เรดาห์ รันเวย์ ประจวบกันโรงเรียนเราก็ต้องฝึกบินอยู่แล้ว จึงได้ฝึกร่วมกันกับเจ้าหน้าที่สุวรรณภูมิมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งก็ทำให้ผมได้มีโอกาสเป็นผู้โดยสารเครื่องบินคนแรกที่ได้ใช้บริการ โดยมีท่านดร.ศรีสุข เป็นนักบินท่านแรกที่นำเครื่องร่อนลงแตะรันเวย์สุวรรณภูมิ
ติดตามชมเส้นทางการบินของ นาวาอากาศโท ปิยะ ตรีกาลนนท์ ครูการบินกองทัพอากาศ ครูการบินพระที่นั่ง และครูการบินพลเรือน ท่านนี้ ได้ใน “สุริวิภา” วันพุธที่27 กันยายน ศกนี้ เวลาดีสี่ทุ่ม ทางโมเดิร์นไนน์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ต้องการข้อมูลเพิ่มติดต่อ วิรดา อนุเทียนชัย (วิ) 0 — 1804 — 5493
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ