กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (“AEONTS”) และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันและตั๋วแลกเงินของบริษัท เป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตเปลี่ยนเป็นมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเป็นลบ ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ AEONTS ที่ ‘F2(tha)’
การปรับลดอันดับเครดิตนี้ได้สะท้อนถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการกันสำรองและการตัดหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ที่ค้างชำระและอัตรากำไรที่ลดลงซึ่งมีสาเหตุมาจากเพดานอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากสินเชื่อและต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ได้ชี้แจงว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นได้ช่วยลดผลกระทบที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรไปได้บางส่วน กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อในเชิงรุกที่มีอัตราการเติบโตสูงของบริษัท สัดส่วนของบัตรเงินสดและสินเชื่อเงินสดที่สามารถยืดการผ่อนชำระไปได้โดยไม่มีการกำหนดการชำระคืนที่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น และสภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลงน่าจะนำไปสู่แรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรต่อไป เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นในการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มผู้กู้ที่มีรายได้ต่ำ นอกจากนั้น ความสามารถของ AEONTS ในการผลักภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการกันสำรองและการตัดหนี้สูญที่เพิ่มสูงขึ้นผ่านค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากลูกค้าอาจจะเป็นไปได้อย่างจำกัด เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการควบคุมจากภาครัฐในอนาคตและการแข่งขันที่สูงขึ้น แม้ว่ามีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตขึ้นเล็กน้อยเป็น 20%
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงจุดแข็งของ AEONTS ในการให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง เงินกองทุนที่เพียงพอ และการสนับสนุนบางส่วนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แม้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่อาจเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราหนี้ที่ค้างชำระในไตรมาสที่ 4 ของปีประกอบการ 2549 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออันดับเครดิตได้แก่ ความสามารถของ AEONTS ในการจัดการการอนุมัติสินเชื่อ การบริหารหนี้ที่ค้างชำระและการติดตามเรียกเก็บหนี้อย่างเข้มงวดเพื่อลดทอนความเสี่ยงจากกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อในเชิงรุกที่มีอัตราการเติบโตสูงรวมทั้งความผันผวนของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มผู้กู้ที่มีรายได้ต่ำ ผู้บริหารคาดการณ์ว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการกันสำรองและการตัดหนี้สูญของ AEONTS น่าจะเริ่มมีเสถียรภาพ
AEON Credit Service ซึ่งเป็นบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นโดยตรงใน AEONTS ในสัดส่วน 27.6% ในขณะที่กลุ่มบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวโยงกับบริษัทแม่ถือหุ้นรวมกันอีกในสัดส่วนประมาณ 36% หุ้นในสัดส่วนที่เหลือถูกโดยนักลงทุนทั่วไป ถ้าพิจารณาถึงภาพรวมทางธุรกิจในระยะยาวของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่ดี การสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทแม่มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ควรยึดถือการสนับสนุนดังกล่าวว่าเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาการจัดอันดับเครดิต
การเติบโตของสินเชื่อรวมของ AEONTS ยังคงอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลง ในขณะที่บริษัทได้รายงานผลกำไรที่แข็งแกร่ง โดยผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 25% เป็น 980.5ล้านบาท ในปีประกอบการ 2548 จาก 784.2 ล้านบาท ในปีประกอบการ 2547 ต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อหรือต้นทุนที่เกิดจากความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงน่าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรใน 2 ปีข้างหน้า ผลกำไรสุทธิในงวดครึ่งปีแรกของปีประกอบการ 2549 เพิ่มขึ้น 11.2% เป็น 532.8 ล้านบาท จาก 479.3 ล้านบาทในงวดครึ่งปีแรกของปีประกอบการ 2548 อันเนื่องมาจากการเติบโตที่สูงของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และมาตรการการควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด AEONTS กำลังเพิ่มการปล่อยสินเชื่อที่มีผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้น เพื่อที่จะลดทอนแรงกดดันต่ออัตรากำไรซึ่งมีสาเหตุจากเพดานอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากสินเชื่อที่ถูกกำหนดไว้จากทางการและต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น
อัตราหนี้ที่ค้างชำระรวมหนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญต่อยอดเฉลี่ยของสินเชื่อลูกหนี้ของ AEONTS ได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.6% ในปีประกอบการ 2548 (หรือเทียบเท่าระดับ 8.9% ถ้านับรวมสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตที่ถูกแปลงเป็นหลักทรัพย์) จาก 5.1% ในปีประกอบการ 2543 ก่อนที่จะลดลงเล็กน้อยไปสู่ระดับ 11.2% ในงวดครึ่งปีแรกของปีประกอบการ 2549 (หรือเทียบเท่า 8.9%) การเพิ่มขึ้นของอัตราหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวทำให้ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการกันสำรองและการตัดหนี้สูญหรือสัดส่วนการตั้งสำรองต่อรายได้ทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 28% ในงวดครึ่งปีแรกของปีประกอบการ 2549 จาก 23% ในปีประกอบการ 2548 และ 14% ปีประกอบการ 2543
ส่วนของผู้ถือหุ้นรวมของ AEONTS ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2549 อยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินเชื่อของ AEONTS ที่ระดับ 17.6% จัดว่าเป็นระดับที่เพียงพอกับการดำเนินงานของ AEONTS ในภาคธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำ ถึงแม้ว่าระดับเงินกองทุนอาจได้รับผลกระทบจากการจ่ายเงินปันผลและการเติบโตของสินเชื่อที่สูง ส่วนอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 6.1 เท่า ณ สิ้นงวดครึ่งปีประกอบการ 2549 เนื่องจากการจัดสรรผลกำไรเข้าสู่เงินกองทุนของบริษัท การแปลงสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลักทรัพย์ได้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและกระจายแหล่งเงินทุนของบริษัท
ติดต่อ
สรสิทธิ์ วรรณประเสริฐ, Vincent Milton, ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, กรุงเทพฯ +662 655 4755/59
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน