กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงานแจง จำเป็นต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพื่อหนุนพลังงานทดแทน แต่จะให้ประชาชนรับภาระน้อยที่สุด ย้ำยังไม่มีความจำเป็นต้องสำรองเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯสูงถึง 30,000 ล้านบาท
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ลดลง กระทรวงพลังงานจึงต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้พลังงานทดแทนสามารถแข่งขันได้และมีราคาที่จูงใจ หากไม่ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ช่วยเหลือจะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทดแทน เช่น เอทานอล และบี 100 ไม่สามารถอยู่รอดได้ นอกจากนั้นยังต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพื่อเป็นการทดแทนรายได้ของกองทุนน้ำมันฯจำนวนหนึ่งที่ลดลงเนื่องจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ประมาณ 2 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 52 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ทยอยเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างช้าๆเพื่อไม่ให้ระดับน้ำมันสูงขึ้น
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะการเงินที่ดีพอที่จะให้การสนับสนุนการผลิตจำหน่ายเอทานอลและไบโอดีเซลได้เพียงพอ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินสำรองไว้ถึง 30,000 ล้านบาท เพราะขณะนี้ภาระอุดหนุนเอทานอล เช่น แก๊สโซฮอล์ อี20 และอี 85 อยู่ที่ 6 ล้านบาทต่อเดือน ไบโอดีเซลบี 5 อยู่ที่ 570 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนด้านภาระการนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) จากต่างประเทศขณะนี้ มีหนี้ชดเชยการนำเข้าช่วงปี 2551 ค้างอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนปี 2552 ประมาณ 121 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯจะทยอยใช้ให้หมดภายในปี 2553
“กระทรวงพลังงานได้คำนึงตลอดเวลาว่าการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเพราะทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น จึงขอยืนยันว่ากระทรวงพลังงานจะเก็บเงินเข้ากองทุนฯให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของประเทศประสบความสำเร็จ” น.พ.วรรณรัตน์กล่าว