รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2552

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2009 13:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวที่ชะลอลงเช่นกัน แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการจ้างงานในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พบว่าภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณของการฟื้นตัว ขณะที่ภาคเกษตรและภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงหดตัวต่อเนื่อง เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมวัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 หดตัวที่ร้อยละ -6.8 ต่อปี และร้อยละ -10.7 ต่อปี ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดือนและไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และเคมีภัณฑ์ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ด้านภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมิถุนายนมีจำนวน 1.0 ล้านคน หดตัวที่ร้อยละ -15.9 ต่อปี ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.0 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ -16.1 ต่อปี จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัยวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศ และผลกระทบจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้านเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ต่อปีในไตรมาสก่อน ตามการผลิตที่ลดลงของสินค้าเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อย และข้าวโพด เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงปีก่อน อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายนเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี สำหรับภาวะราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 2 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -18.1 ต่อปี ทำให้รายได้ของเกษตรกรโดยรวมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เริ่มมีสัญญาณการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนมิถุนายนหดตัวลดลงที่ร้อยละ -11.7 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -15.5 ต่อปี ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.0 ต่อปี สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ที่หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -17.4 ต่อปี ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายนหดตัวลดลงมากที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี ทำให้ทั้งไตรมาสหดตัวที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี ชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.4 ต่อปี อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -18.6 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 64.9 จุด 3. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนทั้งในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -21.9 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -30.2 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ -14.8 และร้อยละ -34.2 ต่อปี ตามลำดับ 4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 พบว่า รายจ่ายรัฐบาลประจำเดือนมิถุนายนเท่ากับ 139.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 442.2 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี โดยเป็นการเบิกจ่ายของงบประจำจำนวน 342.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 80.2 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -7.3 ต่อปี สำหรับรายได้รัฐบาลสุทธิประจำเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 143.4 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 48.6 ต่อปี เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ในเดือนมิถุนายนที่มีการเหลื่อมจ่ายมาจากเดือนพฤษภาคม 2552 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลเท่ากับ 458.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -8.1 ต่อปี โดยมาจากภาษีฐานรายได้และภาษีฐานการบริโภคในไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -15.1 ต่อปี และร้อยละ -18.4 ต่อปี ตามลำดับ 5. การส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน เทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่าการส่งออกในไตรมาส 2 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ 12.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ที่อยู่ที่ 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -25.9 ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 34.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -26.2 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่หดตัวลงที่ร้อยละ -20.5 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวร้อยละ -23.9 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้นได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน และอินเดีย ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -29.3 ต่อปี ทำให้ทั้งไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 30.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -33.3 ต่อปี โดยมาจากปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -28.5 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี อันเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวในทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าทุน ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนภายในประเทศที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 เกินดุลต่อเนื่องที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 43.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2552 แต่ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 อยู่ในระดับสูงที่ 120.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5 เท่า อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 มาอยู่ที่ร้อยละ -2.8 และ -0.1 ต่อปีตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ