กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ปตท.
วันนี้ (29 กรกฎาคม 2552) เวลา 15.00 น. นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามร่วมการใช้ข้อกำหนดการตรวจเรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกก๊าซเหลว ระหว่างกลุ่ม ปตท. โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับนายภูมินทร์ หะรินสุต ประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและประเมินเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศของไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการจัดทำข้อกำหนดในการตรวจและประเมินเรือให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ประกอบด้วยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านปฏิบัติการทางทะเล (PTT Marine Group) ขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการตรวจและประเมินเรือไทยที่ใช้บรรทุกน้ำมันและบรรทุกก๊าซเหลวที่วิ่งในประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีความปลอดภัยในระดับสากล ครอบคลุมไปถึงความปลอดภัยของเรือ คนประจำเรือ ท่าเทียบเรือ การปฏิบัติการสูบส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และการเดินเรือ อันจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ยกระดับมาตรฐานเรือไทยให้ทัดเทียมเรือต่างชาติ โดยได้ดำเนินการร่วมกันกับสมาคมเจ้าของเรือไทย ภายใต้บรรทัดฐานการตรวจและการประเมินเรือของ Oil Company International Marine Forum (OCIMF) ที่ PTT Marine Group ได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิก มาเป็นแนวทางในการดำเนินการเช่นเดียวกับบริษัทน้ำมันชั้นนำ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ กลุ่ม ปตท. ได้รับจากการร่วมลงนามในครั้งนี้คือ ทำให้สามารถจัดหาเรือที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีมาตรฐานตามข้อกำหนด และช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ
นายภูมินทร์ หะรินสุต ประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย กล่าวว่า ในการจัดทำข้อกำหนดการตรวจเรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกก๊าซเหลวดังกล่าว เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง PTT Marine Group กับผู้แทนของสมาคมเจ้าของเรือไทย และได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมตรวจเรือเดินทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น (ClassNK) และกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยพัฒนามาตรฐานการตรวจและการประเมินเรือในประเทศ ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกันให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถือเป็นพันธกิจร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการพาณิชยนาวีของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเป็นก้าวสำคัญในวงการขนส่งทางเรือของไทยด้วย