กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--ปภ.
ในช่วงฤดูฝน นอกจากประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจะต้องระมัดระวังอันตรายจากน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันแล้ว ดินโคลนถล่มก็นับเป็นภัยอีกประเภทหนึ่งที่มักเกิดบ่อยครั้งในช่วงฤดูฝน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขอนำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับภัยดินโคลนถล่ม การเตรียมความพร้อมรับมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียจากดินโคลนถล่ม ดังนี้
“ดินถล่ม” เกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลดินหรือหินที่ผุพังลงมาตามทางลาดเขาด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของโลก โดยมีน้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้ดินเคลื่อนตัว ส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากการเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือในขณะเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดดินถล่ม ได้แก่ ฝนตกหนักเป็นเวลานาน ทำให้น้ำซึมลงไปในดินอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชั้นหน้าดินอิ่มตัวไปด้วยน้ำ ทำให้แรงยึดเกาะของดินลดลง และเลื่อนไหลลงสู่พื้นที่ลาดต่ำ รวมถึงอาจเกิดจากผิวดินบริเวณดังกล่าวไม่มีรากไม้ช่วยยึดเกาะหน้าดิน ทำให้น้ำที่อยู่ในดินไหลตามร่องของชั้นดินและชั้นหิน เศษดินไหลออกจากแผ่นดินทีละน้อย จนกระทั่งแผ่นดินบริเวณนั้นขาดความแข็งแรงและไหลถล่มลงในที่สุด
ในด้านการเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบจากดินโคลนถล่ม ชุมชนถือว่ามีบทบาทสำคัญในการรับมือภัยดังกล่าว จึงมีข้อแนะนำการเตรียมความพร้อมรับมือภาวะดินโคลนถล่มในระดับชุมชน ดังนี้
ร่วมกันพิจารณาว่าพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือไม่ โดยพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลากมีลักษณะดังนี้ บริเวณที่ลาดเชิงเขาหรือติดเขา ใกล้ลำห้วยหรือเนินหน้าหุบเขา ซึ่งมีร่องรอยการเกิดดินโคลนถล่มหรือเลื่อนไหล มีรอยดินแยกหรืออยู่ในพื้นที่ที่เป็นเส้นทางไหลของน้ำป่าและเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง มีกองหิน เนินทรายปนโคลน หรือฟังจากประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มจากหน่วยงานราชการ
ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดและวางแผนเส้นทางอพยพหนีภัยและพื้นที่ปลอดภัย โดยเส้นทางที่ใช้ในการอพยพควรอยู่ในพื้นที่ที่พ้นจากแนวการไหลของดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยจัดให้มีผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ดูแลการอพยพหนีภัยโดยเฉพาะ
ผู้นำชุมชนควรสอนให้คนในชุมชนเรียนรู้และเฝ้าระวังภัย ดังนี้ หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศและสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ก่อนเกิดเหตุดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก มักเกิดเหตุผิดปกติ ดังนี้ มีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่า 100 มม.ต่อวันหรือนานกว่า 6 ชั่วโมง) ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่น มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย เนื่องจากการถล่มและการเลื่อนไหลของน้ำและดินบนยอดเขาซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ
จัดเวรยามเฝ้าระวังบริเวณต้นน้ำที่สามารถเห็นการไหลหลากของน้ำป่าในช่วงที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน หากพบสิ่งผิดปกติทางธรรมชาติข้างต้น ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดน้ำป่าหรือดินโคลนถล่ม ให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เตรียมตัวขนย้ายสิ่งของและทรัพย์สินให้พ้นจากระดับน้ำและเตรียมอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยโดยด่วน
หากสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นต้องอพยพออกจากพื้นที่ ให้อพยพไปตามเส้นทางที่วางแผนไว้ ในการอพยพอย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน หากพลัดตกไปในน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด เพราะอาจกระแทกกับซากต้นไม้ หรือหินที่ไหลมาตามน้ำ ให้หาต้นไม้ขนาดใหญ่เกาะไว้แล้วปีนขึ้นให้พ้นน้ำจึงจะปลอดภัย
หลังเกิดเหตุดินโคลนถล่ม ห้ามเข้าไปในบริเวณที่เกิดดินถล่มหรือบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอาจเกิดการพังทลายซ้ำ ควรกำหนดขอบเขตความปลอดภัยและติดป้ายแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบว่าพื้นที่ใดปลอดภัยและพื้นที่ใดไม่ควรเข้าใกล้ เร่งระบายน้ำออกจากบริเวณที่ดินถล่มให้มากที่สุด โดยทำทางเบี่ยงเพื่อไม่ให้
น้ำไหลลงมาสมทบเข้าในมวลดินที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว รวมทั้งร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่และป้องกันภัยดินถล่มด้วยการไม่ปลูกสร้างบ้านหรือสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ หรือใกล้ลำห้วย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และช่วยกันปลูกป่าไม้และพืชคลุมดิน เพื่อให้มีรากไม้ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้เกิดการชะล้างของหน้าดินหากเกิดฝนตกหนัก
การที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับมือเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม โดยเริ่มจากร่วมกันพิจารณาความเสี่ยงภัยของพื้นที่ กำหนดวางแผนเส้นทางการอพยพ เฝ้าระวังและสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัย เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ที่จะเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างปลอดภัย