กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ไอบีเอ็ม
นวัตกรรมใหม่เปิดโอกาสให้การประมวลผลข้อมูลสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลความลับที่ถูกเข้ารหัสอยู่ภายใน
นักวิจัยจากแผนกวิจัยของไอบีเอ็ม ตอกย้ำความเป็นผู้นำของไอบีเอ็มในด้านการคิดค้นนวัตกรรมของโลก รวมทั้งสานต่อภารกิจสู่การทำโลกให้ฉลาดขึ้น (Smarter Planet) บุกเบิกและคิดค้นเทคโนโลยี “การประมวลผลเชิงลึกผ่านข้อมูลส่วนตัว (Privacy Homomorphism หรือ Fully Homomorphic Encryption)” ซึ่งเปิดโอกาสให้การประมวลผลหรือวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลสามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด แม้กระทั่งกับข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสลับ (Public Key Encryption) มาก่อน โดยที่ความลับในข้อมูลต้นฉบับดังกล่าวยังคงถูกเก็บไว้เป็นความลับเช่นเดิม
มร. เครก เจนทรี นักวิจัยของไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวโดยอาศัยเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า "โครงสร้างตาข่ายที่สมบูรณ์แบบ” (Ideal Lattice)” เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถประมวลผลและทำงานกับข้อมูลที่ผ่านการเข้ารหัสมาก่อน โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลต้นฉบับแต่อย่างใด นอกจากนั้น นวัตกรรมดังกล่าวยังถือเป็นต้นแบบของนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดกับการใช้งานในด้านอื่น ๆ มากมาก เช่น
การเพิ่มความปลอดภัยให้กับการใช้งานทางด้านคลาวด์คอมพิวติ้งในอนาคต ซึ่งผู้ใช้งานมักมีการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า หรือข้อมูลทางด้านยอดขาย เป็นต้น กระจัดกระจายอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวเปิดโอกาสให้การประมวลผลข้อมูลผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยความลับของข้อมูลต่าง ๆ ยังคงอยู่เช่นเดิม
การทำงานของระบบกรองเมล์ขยะ (สแปม) เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้ระบบกรองเมลขยะที่ต้องทำผ่านอีเมลที่มีการใส่รหัสผ่านไว้ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประมวลผลฐานข้อมูลเวชระเบียนคนไข้ซึ่งต้องทำผ่านข้อมูลส่วนบุคคลของคนไข้ที่ใส่รหัสผ่านไว้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น
ระบบเสิร์ช เอนจิ้น ที่สามารถสืบค้นและประมวลผลข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีการใส่รหัสผ่านไว้ สามารถทำได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
มร. ชาร์ลส์ ลิกเคล รองประธานฝ่ายวิจัยซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม กล่าวว่า ”ที่ไอบีเอ็ม เรามีต้องการช่วยให้องค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างฉลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัย” นอกจากนั้น มร. ชาร์ลส์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “เทคโนโลยีประมวลผลเชิงลึกผ่านข้อมูลส่วนตัวนี้ เปรียบได้กับการช่วยให้คนธรรมดาสามารถทำการผ่าตัดสมองในขณะที่กำลังปิดตาอยู่ได้ โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องจดจำได้ว่าตนเองทำอะไรไปบ้าง เราเชื่อว่าผลงานความก้าวหน้าในครั้งนี้จะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลลับจากข้อมูลต้นฉบับใด ๆ นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าด้วยผลงานการวิเคราะห์แบบโครงสร้างตาข่ายแลตทิซ (Lattice) นี้เอง ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับการเข้ารหัสลับในอนาคตได้อีกด้วย"
ที่ผ่านมา นอกจากนวัตกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ไอบีเอ็มยังเคยสร้างสรรค์ผลงานสำคัญๆ มากมายที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีการเข้ารหัส เช่น การออกแบบมาตรฐานการเข้ารหัสข้อมูล (Data Encryption Standard - DES) รหัสยืนยันความถูกต้องข้อความแฮช (Hash Message Authentication Code - HMAC) การเข้ารหัสแบบแลตทิซที่มีความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งโซลูชั่นอีกมากมายที่ช่วยพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต การสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดความเป็นผู้นำของไอบีเอ็มในด้านการคิดค้นนวัตกรรมของโลก ซึ่งพิสูจน์ได้จากความสำเร็จมากมาย อาทิเช่น ในปี 2551 ไอบีเอ็มเป็นองค์กรอันดับหนึ่งด้านการคิดค้นนวัตกรรม โดยมีการคิดค้นนวัตกรรมและจดสิทธิบัตรถึง 4,186 ชิ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯที่มีการจดสิทธิบัตรมากกว่า 4,000 ชิ้นภายในปีเดียว รวมทั้งไอบีเอ็มยังทำสถิติเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในด้านการคิดค้นนวัตกรรมและจดสิทธิบัตรใหม่ ๆ เป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน ซึ่งไม่เคยมีบริษัททางด้านเทคโนโลยีใด ๆ เคยทำได้มาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไอบีเอ็มยังประกาศว่าจะนำนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่ในปีนี้กว่า 3,000 ชิ้น ซึ่งปกติจะนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตร มาเผยแพร่ให้สาธารณชนนำไปใช้ได้ฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แผนการดังกล่าวมีขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและต่อยอดทางด้านนวัตกรรมในวงกว้าง และแผ้วทางสู่ความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนางานในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างโลก ‘ให้ฉลาดขึ้น’ ต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ หรือหน่วยงานทางด้านการค้นคว้าวิจัยของไอบีเอ็ม สามารถเข้าไปที่ www.research.ibm.com
เผยแพร่โดย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์: 0-2273-4117 อีเมล์: werakit@th.ibm.com