Volunteer Center เปิดตัวโครงการใหม่ ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ และ ‘จากพี่สู่น้อง’ ชวน น.ศ.ทำดี

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2009 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ศูนย์อาสาสมัครมธ.เดินหน้าปลุกสำนึกจิตอาสา คลอด 2 โครงการใหม่ ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ และ ‘จากพี่สู่น้อง’ ชวนนักศึกษา มธ.ทำกิจกรรมจิตอาสา สร้างประโยชน์เรียนรู้กับชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิด “งานอาสาสมัคร ทำได้ง่ายๆ ทำได้ทันที ทำได้ทุกวัน” นางสาวนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ศูนย์อาสาสมัคร มธ. ศูนย์รังสิต ได้ก่อตั้งขึ้น และเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การก่อตั้งศูนย์อาสาสมัครนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ชุมชน และสังคมรอบข้าง ผ่านการทำงานจิตอาสา ตลอดจนส่งเสริมการนำ “ความรู้” ไปใช้แก้ปัญหาชุมชน และสังคมรอบข้างใกล้ๆ ตัว อันจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ และทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมได้ ทั้งนี้การสนับสนุนจะมุ่งเน้นให้นักศึกษาทำกิจกรรม หรือโครงการกับชุมชนที่อยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิดที่ว่า การทำกิจกรรมอาสาสมัคร เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ทำได้ทันที และทำได้ทุกวัน ผู้จัดการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมา ศูนย์อาสาสมัคร ได้ริเริ่มดำเนินโครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชน ไปแล้ว โดยให้การสนับสนุนโครงการของนักศึกษาทั้งสิ้น 19 โครงการ สำหรับปีนี้ ศูนย์อาสาสมัคร รุกต่อยอดฐานงานจิตอาสา โดยเปิดตัวโครงการใหม่พร้อมกัน 2 โครงการ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษา มธ.ได้ทำงานจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการระดมเยาวชนคนจิตอาสามาผนึกกำลังพัฒนาชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัย โดยหวังให้เป็นการสร้างฐานเยาวชนจิตอาสาที่เข้มแข็งใน มธ. ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะเปิดรับนักศึกษา เพื่อเริ่มดำเนินกิจกรรมในเดือนกันยายน ถึงตุลาคมปีนี้ ผู้จัดการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการใหม่ 2 โครงการว่า “โครงการ จิ๋วแต่แจ๋ว จะเชิญชวนนักศึกษาที่มีประสบการณ์ทำกิจกรรมจิตอาสามาบ้างแล้ว ร่วมส่งโครงการจิตอาสาไอเดียเจ๋งๆ เข้ามาประกวด จุดนี้ศูนย์ฯ อยากรู้ว่านักศึกษามีไอเดียดีๆ อะไรบ้าง อาจเป็นงานที่ทำคนเดียวหรือเป็นทีมก็ได้ ขอแค่ทำสิ่งเป็นประโยชน์กับชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยโดยไม่หวังผลประโยชน์เท่านั้นเอง โดยทางศูนย์ฯ จะสนับสนุนทุนทำกิจกรรมบางส่วน” “สำหรับโครงการ “จากพี่สู่น้อง” ศูนย์จะเปิดรับนักศึกษาหน้าใหม่ที่ไม่เคยทำงานอาสาสมัครมาก่อน แล้วชวนนักศึกษาออกไปทำกิจกรรมในโรงเรียนระดับประถมศึกษา 2 โรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ โรงเรียนวัดบางขันธ์ และโรงเรียนคลองสอง (เสวตสมบูรณ์อุปถัมภ์) โดยให้อาสาสมัครชวนเด็กๆ ในโรงเรียนมาช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ซึ่งจุดนี้อาสาสมัครต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรเด็กๆ จะรู้จักวิธีปรับสภาพแวดล้อมโรงเรียนให้น่าอยู่แล้วลงมือทำกิจกรรมต่อไปได้ด้วยตนเอง โดยจะทำควบคู่กับกิจกรรมห้องสมุดมีชีวิต เนื่องจากศูนย์ฯ สำรวจมาแล้วพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่รอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีปัญหาเรื่องห้องสมุด คือห้องสมุดไม่น่าสนใจ ไม่มีหนังสือ เด็กๆ จึงไม่ค่อยอ่านหนังสือ อาสาสมัครก็จะเข้ามาจัดกิจกรรมในห้องสมุด เพื่อทำให้เด็กมีความคุ้นเคยกับห้องสมุดมากขึ้น และจัดหาหนังสือที่อยู่ในความสนใจของเด็กๆ มาเพิ่มเติมไว้ในห้องสมุดต่อไป” นางสาวนันทินี ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชนที่ผ่านมาเพิ่มเติมว่า มีโครงการจิตอาสาของนักศึกษามธ.ทั้ง 3 ศูนย์ รวม 19 โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการที่มีผลงานเด่นหลายโครงการ อาทิ โครงการทียูฟอร์ยู(TU To You) มธ.ท่าพระจันทร์, โครงการปลูกน้ำใจในบ้านเรา มธ.ศูนย์รังสิต, โครงการเยาวชนสืบค้นความดี มธ.ศูนย์ลำปาง เป็นต้น ซึ่งพบว่ากิจกรรมจิตอาสามีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและชุมชนรอบข้างได้จริง อีกทั้งยังทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมมากขึ้น ซึ่งการดำเนินกิจกรรมทั้ง 2 โครงการในปีนี้ ก็เป็นผลสืบเนื่องจากโครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชนในปีที่ผ่านนั่นเอง นายอนุวัฒน์ บัวปาน หรือต้นน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง แกนนำโครงการเยาวชนสืบค้นความดี 1ใน 19 โครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชน สะท้อนถึงประสบการณ์ในการลงไปทำงานกับชุมชนว่า “กิจกรรมนี้ทำในพื้นที่ชุมชนบ้านส้มป่อย โดยอาสาสมัครจะใช้กระบวนการให้เด็กๆ ในชุมชนไปสืบค้นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งดีๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน โดยพี่อาสาสมัครมีหน้าที่แนะนำเทคนิคการสังเกตและเก็บข้อมูล จากนั้นให้น้องๆ นำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นสื่อท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ว่าชุมชนบ้านส้มป่อยมีสิ่งดีๆ และมีคุณค่าอยู่ที่ไหน อย่างไรบ้าง โดยหลังจากทำโครงการนี้แล้วปรากฎว่าน้องๆ ในชุมชนได้ร่วมกันคิดโครงการต่อยอดที่พวกเขาอยากทำ คือ โครงการมินิมาร์ทชุมชน เพื่อนำเสนอว่าป่าชุมชนมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเขาอย่างไร เพราะน้องๆ ค้นพบว่าวิถีชีวิตของเขา เวลาเดินเข้าไปในป่าชุมชนตามฤดูต่างๆ เขาสามารถเก็บของป่ากลับออกมาเป็นอาหารยังชีพได้ ป่าไม้จึงมีประโยชน์และเปรียบเสมือนชีวิตของเขา ซึ่งอาสาสมัครเห็นว่าความคิดของน้องๆ เป็นโครงการต่อยอดที่ดีและควรสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป” โครงการ พัฒนาขยะชุมชนท่าใหญ่พัฒนา ผู้รับผิดชอบโครงการ กลุ่ม S.G.S คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ อาสาสมัครทำ workshop การจัดการขยะกับชาวบ้าน แผนผังการจัดการขยะ อาสาสมัครตั้งวงเสวนากับชาวบ้าน พื้นที่ดำเนินโครงการ ชุมชนท่าใหญ่พัฒนา ลักษณะกิจกรรม จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยการทำประชาคมและให้ ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ