กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--เนคเทค
นักวิจัยเนคเทค นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยต้นแบบล่ามอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรองรับการแปลได้ถึง 9 ภาษา หวังเปิดมิติใหม่ของการใช้ภาษาข้ามประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค โดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา (Human Language Technology Laboratory) ได้ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือวิจัยระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ Asian Speech Translation Advanced Research Consortium (A-STAR) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกตั้งต้นจาก 6 ประเทศคือ ญี่ปุ่น (NICT/ATR) เกาหลี (ETRI) ไทย (เนคเทค) อินโดนีเซีย (BPPT) จีน (NLPR-CASIA) และอินเดีย (CDAC) และขยายเพิ่มอีก 2 ประเทศในปี 2551 คือประเทศเวียดนาม (IOIT) และสิงคโปร์ (I2R) มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาระบบล่ามอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถแปลเสียงพูดข้ามภาษาในภูมิภาคเอเชีย เตรียมพร้อมสำหรับให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในโลก
ล่าสุดเนคเทคร่วมกับประเทศสมาชิกใน A-STAR ได้เปิดตัว ต้นแบบล่ามอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (The first Asian network-based speech-to-speech translation system) ซึ่งทำงานแบบออนไลน์ เชื่อมต่อกันทั้ง 8 ประเทศ คาดจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อการสื่อสารของประชาชนทั่วโลก โดย 8 ประเทศสมาชิกใน A-STAR ได้ร่วมทดสอบใช้งานระบบ ซึ่งรองรับการแปลถึง 9 ภาษาได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไทย อินโดนีเซีย มาเลย์ เวียดนาม ฮินดี และภาษาอังกฤษ (ตารางที่ 1 แสดงระบบที่เปิดทดสอบให้บริการในแต่ละประเทศ ) นอกจากนี้แต่ละประเทศสมาชิกได้เปิดเว็บบริการที่แตกต่างกันไป เช่น เว็บบริการรู้จำเสียงพูด (Automatic speech recognition: ASR) เว็บบริการแปลข้อความ (Machine translation: MT) และเว็บบริการสังเคราะห์เสียงพูด (Text-to-speech synthesis: TTS) ในภาษาต่างๆ ซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานของ Speech Translation Marked-up Language (STML) ที่กำหนดขึ้นภายใน A-STAR ณ ปัจจุบัน ระบบสามารถรู้จำเสียงพูดได้ 8 ภาษา สังเคราะห์เสียงพูดได้ 9 ภาษา และแปลข้อความได้มากถึง 72 คู่ภาษา
ด้านซอฟต์แวร์ในฝั่งผู้ใช้งาน สามารถทำงานได้บนอุปกรณ์แบบพกพา ( เช่น VAIO) ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการล่ามแปลภาษาได้ในทุกที่ที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และสามารถเลือกใช้บริการเฉพาะส่วน เช่น บริการรู้จำเสียงพูด บริการแปลข้อความ หรือบริการสังเคราะห์เสียงพูด นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ต้นแบบที่สร้างขึ้นยังสามารถเชื่อมต่อผู้ใช้ได้สูงสุดถึง 4 สายพร้อมกัน ระบบล่ามอิเล็กทรอนิกส์นี้ รองรับข้อความที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 20,000 ข้อความ ประกอบกับคำนามเฉพาะ (Named entity) ในภาษาต่างๆ อาทิเช่น ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว เช่น Bulkuksa ของเกาหลี วัดพระแก้ว ของไทย หรือชื่อการแสดงท้องถิ่น เช่น Wayangkulit ของอินโดนีเซีย Khatak ของอินเดีย เป็นต้น
A-STAR ได้ตั้งขึ้นในปี 2550 เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการติดต่อสื่อสารรูปแบบใหม่ดังกล่าว อาทิเช่น การพัฒนาคลังข้อมูลทางด้านภาษาของประเทศสมาชิก การพัฒนาพจนานุกรมพื้นฐานที่สามารถใช้ร่วมกัน การพัฒนามาตรฐานการเชื่อมต่อเว็บบริการสำหรับส่วนประกอบต่างๆ ในระบบล่ามอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2551 A-STAR ได้บรรจุเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert group) ในโปรแกรม Asia-Pacific Telecommunity Standardization (APT-ASTAP) เพื่อผลักดันมาตรฐานการเชื่อมต่อเว็บบริการสำหรับระบบล่ามอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้บรรจุเป็นโครงการหนึ่ง ในสาขา Telecommunications and Information ของ APEC (APEC TEL)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย
เบอร์โทรศัพท์ 025646901ต่อ2233
E-mail chai.wutiwiwatchai@nectec.or.th