กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--สบท.
สบท. ร่วมกับ 3 องค์กรผู้บริโภคอาเซียน ออกปฏิญญาเชียงราย ร่วมมือปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคนี้ เน้นพัฒนามาตรฐานบริการที่ดี การเข้าถึงถ้วนหน้า และความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ
สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จับมือกับ 3 องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค อันได้แก่ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (Southeast Asian Consumer Council) สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (Foundation for Consumers) จัดงานประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียน (The Next Wave of ASEAN Consumer Protection in Telecommunications) ระหว่างวันที่ 28 - 30 กรกฎาคม 2552 ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเวทีการประชุมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมของกลุ่มอาเซียนที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจาก 8 ประเทศ ร่วมรายงานสถานการณ์และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจโทรคมนาคม ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สเปน และไทย โดยสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญของโทรคมนาคมที่กระทบต่อผู้บริโภคคือ ปัญหาการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เที่ยงตรง การโทรและส่งข้อความรบกวน การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การไม่รู้เท่าทันกฎหมาย ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการ และผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการใช้โทรคมนาคม เป็นต้น
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน ย้ำว่า “ปัญหาของผู้บริโภคและการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเป็นปัญหาระดับนานาชาติ และจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวที่อาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาค ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้บริโภคแถบภูมิภาคอาเซียน ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หลังจากที่ได้จัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนซึ่งจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2550”
“ความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ประชุมได้ร่างปฏิญญาเชียงราย ที่มีเนื้อสำคัญคือ (1) ทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่องร่วมกับภาคีในกิจการโทรคมนาคม (2) กำหนดมาตรฐานพื้นฐานว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (3) ตระหนักว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐาน (4) ตระหนักว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยใช้แนวทาง “คนเป็นศูนย์กลาง” (5) จัดตั้งหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคโดยใช้กลไกที่จัดตั้งขึ้นแล้วเป็นหลัก (5) จัดประชุมทุกปี โดยจัดทำประเด็นรณรงค์ร่วมกันทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการใช้บริการโทรคมนาคมต่อสุขภาพ หรือการบริโภคอย่างยั่งยืน (7) ดำเนินการวิจัย/สำรวจเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกิจการโทรคมนาคม โดยมีหัวข้อหลักคือการเข้าถึงเท่าเทียม ระบบการจ่ายเงินล่วงหน้า (Pre-paid) ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่เที่ยงตรง และความปลอดภัย (8) สร้างเว็บไซต์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (9) เรียกร้องให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรปกป้องผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (10) ผลักดันให้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมใช้หลักบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” คุณสารี อ๋องสมหวัง คุณอินดา สุกสมานนิงซ์ และคุณrเซียะ เซียง ชุน ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์กล่าว
สำหรับประเทศไทย นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมระบุว่า “ปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ทางสถาบันต้องการจะแก้ไขคือปัญหาการโทรขายสินค้า/บริการ และส่งข้อความรบกวน โดยสถาบันจะใช้แนวทางของประเทศฮ่องกงและออสเตรเลียในการจัดทำระบบ “ห้ามโทรรบกวน” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการได้รับโทรศัพท์และการส่งข้อความเพื่อขายบริการหรือสินค้าต่างๆ
ประชาสัมพันธ์ในนาม สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พัชรี เลิศปกรณ์ชัย โทร. 02 946 8470