ปภ.เตือนระวัง!!!ติดคออันตรายถึงชีวิต

ข่าวทั่วไป Friday July 31, 2009 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด จัดเก็บสิ่งของที่แตกหักง่ายหรือของเล่นที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กให้พ้นมือเด็ก ไม่ควรให้เด็กเล็กรับประทานอาหาร ที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง โดยเฉพาะปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก ผลไม้ที่มีเม็ดเล็ก หากมีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจหรือหลอดอาหารให้รี-บช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำและตบแรงๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก จนสิ่งแปลกปลอมกระเด็นหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปาก จับเด็กห้อยศีรษะและตบหลังเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เศษอาหารหรือสิ่งของตกมาอุดที่กล่องเสียงจนขาดอากาศหายใจได้ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กเสียชีวิต อย่างฉับพลัน หรือพิการทางสมองเป็นเจ้าชายนิทรา ได้แก่ การที่สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจและหลอดอาหาร โดยมีสาเหตุจากความซุกซนของเด็กวัย ๑ — ๒ ขวบที่มักหยิบฉวยสิ่งของต่างๆเข้าปาก การขาดความระมัดระวังของเด็กโตที่รับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ สิ่งแปลกปลอมที่มักทำให้เด็กติดคอ ได้แก่ วัสดุที่มีขนาดเล็ก เม็ดผลไม้ กระดูก ก้างปลา เป็นต้น กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย จึงขอแนะนำวิธีการดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยจากสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจและหลอดอาหาร ดังนี้ การเล่น ควรจัดเก็บสิ่งของที่มีขนาดเล็ก เช่น กระดุม เข็มกลัด ยา ให้พ้นมือเด็ก ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่นที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็ก หรือแตกหักง่าย เพราะหากเด็กนำเข้าปากแล้วกลืน อาจเกิดการสำลักหรืออุดกั้นทางเดินหายใจเสียชีวิตได้ รวมถึงควรสอน ให้เด็กไม่นำของเล่นไปอมหรือเคี้ยวในปากเพราะอาจได้รับอันตรายจากสารตะกั่ว และชิ้นส่วนของเล่นติดคอ การรับประทานอาหาร ไม่ควรให้เด็กเล็กรับประทานอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น กลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก โดยเฉพาะผลไม้ที่มีเม็ด จำพวกแตงโม น้อยหน่า ละมุด หากต้องการให้เด็กรับประทานควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้มีความลื่นและมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ฟันยังขึ้นไม่ครบ ควรบดอาหารให้ละเอียด ไม่ควรป้อนอาหารด้วยความรีบร้อน เพราะเด็กอาจกลืนอาหารไม่ทันจนสำลักติดคอได้ รวมทั้งสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้าๆให้ละเอียดก่อนกลืน ที่สำคัญ ควรระมัดระวังมิให้เด็กวิ่งเล่น พูดคุยหรือหัวเราะในขณะรับประทานอาหาร ตลอดจนไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารในขณะที่รถกำลังเคลื่อนตัว เพราะเสี่ยงต่อการสำลักและอาหารลื่นหลุดลงหลอดลมได้ง่าย นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรจัดเก็บถังขยะให้มิดชิด ผูกปากถุงขยะให้แน่น พร้อมนำไปไว้บริเวณนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรนำสารเคมีจำพวกกรด น้ำยาล้างเครื่องเงิน ยาฆ่าแมลง น้ำยาปรับผ้านุ่มเก็บไว้ในขวดนม ขวดน้ำอัดลมหรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่เด็กรับประทานเป็นประจำ เพราะหากเด็กเข้าใจผิดอาจหยิบมารับประทานจนเกิดอันตรายได้ ลักษณะอาการติดคอ เนื่องจากเด็กไม่สามารถสื่อสารได้ ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และหมั่นสังเกตพฤติกรรมเด็ก หากมีอาการไอ หายใจไม่ออก เอามือจับบริเวณคอ ไม่สามารถพูดได้ หายใจเหมือนคนหอบ ให้รีบปฐมพยาบาลในเบื้องต้น และนำเด็กไปพบแพทย์ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน การช่วยเหลือเด็กเบื้องต้น ให้ใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำและตบแรงๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบักจนสิ่งแปลกปลอมกระเด็นหลุดออกมา เมื่อพบเห็นเด็กนำสิ่งของเข้าปาก ห้ามทำให้เด็กเกิดอาการตื่นตระหนกหรือตกใจ ไม่เอามือล้วงช่องปาก คอหอยเด็ก โดยที่ยังมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม ไม่จับเด็กห้อยศีรษะและตบหลังเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เศษอาหารหรือสิ่งของยิ่งลงลึกและอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ หากเด็กยังหายใจได้ควรให้เด็กไอแรงๆ เพื่อให้เศษอาหารหรือสิ่งของหลุดออกมา หรืออ้าปากเด็กดูหากพบว่าเศษอาหารอยู่ในระยะที่สามารถหยิบออกได้ ควรหยิบหรือคีบออกทันที ถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยเหลือเด็กไว้ได้แล้วผู้ปกครองควรนำเด็กไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ