สรุปการสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง FPO Forum หัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ใกล้จะฟื้นตัวแล้วจริงหรือ”

ข่าวทั่วไป Friday July 31, 2009 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดมุกดาหาร ในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2552 โดยได้กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ใกล้จะฟื้นแล้วจริงหรือ” ดังนี้ วิกฤตเศรษฐกิจไทยครั้งนี้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้ว ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ตอนนี้ โดยในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนไทยยังอ่อนแอ ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านทาง 3 นโยบายหลัก ได้แก่ 1) การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล และเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนภายในประเทศ 2) การดำเนินโยบายการเงิน ผ่านสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และจัดทำ Public Service Account (PSA) เพื่อเป็นการแยกบัญชีสำหรับการปล่อยสินเชื่อของภาครัฐ อันจะนำไปสู่การสร้างความโปร่งใสทางการคลัง และ 3) การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่ง ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และการลดอากรนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี ภาครัฐมีข้อจำกัดในการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินเพิ่มเติม โดยภาครัฐต้องดูแลการใช้เงินกู้มาลงทุนในโครงการที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ขณะนี้ สศค. ยังได้เตรียมความพร้อมที่จะเสนอนโยบายด้านการคลังเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขจุดอ่อนของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะปานกลางและระยะยาว ได้แก่ มาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรการภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจเพื่อขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติหรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ เพื่อดูแลด้านหลักประกันรายได้เพื่อการยังชีพเมื่อชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบ และแผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรให้ความสำคัญกับนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน และอินเดีย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ใน 4 มิติ ได้แก่ เชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ เสถียรภาพ และความยั่งยืน - ดร. กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ได้แสดงความคิดเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี และจะขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ในปี 2553 สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.8 ต่อปีในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี โดยภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไป การบริโภคของสหรัฐฯ จะลดลง การแข่งขันทางการค้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง นอกจากนี้ สภาพคล่องของโลกจะเพิ่มขึ้นตามการออมที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นและนำมาสู่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีน อินเดีย และ บราซิล มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปประเทศดังกล่าวได้ในอนาคตดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านการผลิตและการบริการ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพของสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งการจะเพิ่มประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพของคน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนลดกฎระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยากของภาครัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ และสร้างระบบการป้องกันทางสังคม (Social Protection) ด้วย - ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าตามไปด้วย 2) การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น 3) ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกอย่างมาก 4) สภาพคล่องของระบบการเงินยังมีอยู่มาก แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อเท่าที่ควร โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และ 5) ปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และลดการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ