กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--สวทช.
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านการแข่งขันทางการตลาดที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากประเทศไทยเพียงแหล่งเดียว แนวคิดด้านการออกแบบและการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองจึงเกิดขึ้น เพื่อยกระดับกระบวนกาการออกแบบและการผลิตให้มีคุณภาพไปสู่ตลาดไฮเอ็นด์
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรือผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน ที่มีกระบวนการผลิตไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้พลังงานได้จึงเป็นสินค้าที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมจากกลุ่มบุคคลที่ตระหนักถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตจึงเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
“อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยมีจุดเด่นสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างสบายในด้านฝีมือแรงงานที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้คนไทยกลายเป็นช่างฝีมือที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน ผลงานที่ออกมาจึงโดดเด่นคงความเป็นเอกลักษณ์ แต่จะใช้เป็นจุดขายอย่างเดียวไม่ได้ผู้ประกอบการต้องนำความคิดแบบสากลมาประยุกต์ใช้เพื่อให้การพัฒนาตรงตามความต้องการของผู้บริโภค”รศ.ดร.สมชาย กล่าว
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริการจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ซึ่งมีภารกิจหลักคอยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและจากต่างประเทศเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ โดยมีสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทยเข้าร่วมด้วย
ล่าสุดโครงการ iTAP ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์เอสเอ็มอี (SME) ของไทย 4 บริษัท คือ บริษัทพิมพ์เพ็ญ จำกัด บริษัทอุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด บริษัทเปอร์ฟอร์เม็กซ์ จำกัด และบริษัทเอฟบีซีเอ็ม จำกัด เข้าประลองฝีมือการดีไซน์และการเลือกใช้วัสดุตามโครงการพัฒนาเทคนิคการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยมี Mr.Kiyashi Sodogawa เจ้าของบริษัท Zero First Design Co.,Ltd ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นพร้อมด้วยคณะซึ่งมีความเชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาด้านการปรับโทนสี ขนาด รูปทรงของเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นไปตามความนิยมและวัฒนธรรมของผู้บริโภคในแต่ละชาติซึ่งมีความแตกต่างกันพอสมควร เพื่อนำตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์เดินทางไปโรดโชว์ในงาน Salone Internazionale del Mobile เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นงานเฟอร์นิเจอร์มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
“ การออกงาน Salone Internazionale del Mobile ถือเป็นการประกาศศักดางานเฟอร์นิเจอร์ไทยซึ่งเป็นการท้าทายความสามารถทั้งตัวดีไซน์เนอร์และผู้เชี่ยวชาญในการรังสรรค์ชิ้นงานให้ออกมามีคุณค่า สามารถถ่ายทอดความทันสมัยพร้อมผสานประโยชน์ใช้สอยได้อย่างลงตัว แม้ว่างานนี้ไม่ใช้งานขายของแต่เป็นงานขายไอเดีย ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ของผู้ประกอบการไทยได้ผลตอบรับออกมาดีและถือว่าประสบความสำเร็จคุ้มค่าเหนื่อยที่ได้ลงแรงไป” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เปิดเผยอีกว่า ความสำเร็จจากงาน Salone Internazionale del Mobile เกิดจากความสามารถด้านการตลาดและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นความเป็นธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตรงตามความต้องการด้านการใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ รูปแบบสวยงามและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ใช้จริงจนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีคุณค่าเป็นที่ต้องการอย่างไม่มีขีดจำกัด อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้
อย่างไรก็ตามการทำงานที่อาศัยเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีนำมาเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายเพื่อหาแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและบริหารจัดการอย่างครบวงจร ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมากขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทย
ด้าน นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทอุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการที่ได้เดินทางไปร่วมจัดแสดงในงาน Salone Internazionale del Mobile เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ว่า เป็นโอกาสดีที่ได้นำผลงานไปแสดงความสามารถ เพราะงานดังกล่าวไม่ได้เน้นที่ตัวผู้ผลิต แต่จะเน้นไปที่ตัวดีไซน์เนอร์ ตราสินค้า จึงต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากเจ้าหน้าที่ประจำงานหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์สามารถดึงดูดความสนใจได้
นายจิรชัย เปิดเผยอีกว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนี้มีเป้าหมาย คือ “ทำอย่างไรให้คนจำเราได้” จึงต้องดึงจุดเด่นและความชำชาญของแต่ละบริษัทออกมาผลิตเป็นชิ้นงานนำเสนอภายใต้หัวข้อ Future natural คือ วัตถุดิบที่นำมาผลิตต้องมาจากธรรมชาติ การออกแบบจึงเน้นแนวความคิดให้เฟอร์นิเจอร์มีความชัดเจน แรงโดนใจ และแปลกใหม่ ไม่ลอกเลียนแบบใครทำให้สินค้าเป็นที่จดจำได้ง่าย งานที่ออกไปจึงต้องแตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ของประเทศอิตาลี ที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นมือหนึ่งของโลก
“สิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนภูมิใจคือเฟอร์นิเจอร์ที่นำไปแสดงไม่เหมือนประเทศอื่นเลย ทำให้บูท Thailand ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติและสื่อมวลชนที่เข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก แม้ว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานน้อยกว่าทุกปี แต่โบชัวร์ที่นำไปแจกบริษัทละ 2-3 พันเล่ม หมดเกลี้ยงภายใน 6 วัน” นายจิรชัย กล่าว
การพัฒนาด้านการออกแบบและการผลิตที่นอกเหนือการหวังผลกำไรจากยอดขายแล้ว การนำเฟอร์นิเจอร์เข้าไปแสดงในงานระดับโลกเช่นนี้ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทและตัวดีไซน์เนอร์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย Salone Internazionale del Mobile งานเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจึงเสมือนเป็นสนามประลองความสามารถของกลุ่มบริษัทเอสเอ็มอีไทยให้ได้อมยิ้มกับเสียงชื่นชมของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับวงการเฟอร์นิเจอร์ไทย ก่อนกลับมาเตรียมความพร้อมในการผลิตชิ้นงานนำออกไปแสดงความสามารถอีกครั้งในปี 2553
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 โครงการ iTAP หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap หรือ คุณชนากานต์ สันตยานนท์ โทร.0-2564-7000 ต่อ 1368,1381 หรือ email:chanaghan@tmc.nstda .or.th