อินเดียไม่ต่ออายุมาตรการทุ่มตลาดสินค้าคาร์โปรแลคตัมจากไทย

ข่าวทั่วไป Monday August 3, 2009 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียได้ประกาศยกเลิกกระบวนการทบทวนความจำเป็นในการต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าสารคาร์โปรแลคตัม (Caprolactam) หรือชื่อทางเคมี6-Hexanelactum ภายใต้พิกัดศุลกากร 29337100 จากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ไนจีเรีย รวมทั้งไทย โดยมาตรการดังกล่าวจะครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 และจะไม่มีการต่ออายุมาตรการ เนื่องจากผู้ผลิตในอินเดียไม่ประสงค์จะยื่นคำขอให้มีการต่ออายุมาตรการ ประเทศอินเดียได้ใช้มาตรการ AD สินค้าสารคาร์โปแลคตัม ตั้งแต่ปี 2547 โดยสินค้าไทยถูกเรียกเก็บอากร AD ในอัตรา 1,421.09 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน จึงทำให้ไทยไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศอินเดียได้ในช่วงที่มีการใช้มาตรการ สารคาร์โปแลคตัมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต สารไนล่อน 6 ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ มากมาย เช่น เสื้อผ้า ชุดว่ายน้ำ ผ้าร่ม หรือแม้แต่ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ชิ้นส่วนตัวถังรถจักรยานยนต์ ผ้าใบยางรถยนต์ ท่อไอเสีย กระปุกน้ำมันเบรก เป็นต้น ทั้งนี้อินเดียเป็นตลาดศักยภาพ ที่น่าสนใจเนื่องจากมีจำนวนประชากรมากเป็นอับดับ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน และเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูง มีการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและยานยนต์ที่มีอัตราเติบโตสูง ดังนั้นความต้องการในการนำเข้าสารคาร์โปแลคตัมซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมดังกล่าวจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเมื่อปีที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าสารคาร์โปแลคตัมมากกว่า 24,000 ตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกสารคาร์โปแลคตัมรายใหญ่อันดับ 2 ของอินเดียโดยมีสัดส่วนตลาดกว่าร้อยละ 25 แต่หลังจากมีการบังคับใช้มาตรการ AD ในปี 2547 ผู้ส่งออกไทยจึงไม่สามารถส่งออกไปยังอินเดียได้อีก ดังนั้นการที่อินเดียไม่ต่ออายุมาตรการ AD จึงนับเป็นโอกาศอันดีที่ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกไปยังอินเดียและอาจสามารถกลับไปเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของอินเดียได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการใช้มาตรการ AD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสินค้าต่างๆ โดยอินเดียเป็นประเทศที่ใช้มาตรการฯมากเป็นอันดับ 3 รองจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกจึงควรศึกษาข้อมูล เฝ้าระวัง รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการแก้ต่าง เพราะอาจมีการเปิดไต่สวนขึ้นได้ในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ