แพรนด้าฯเผยแนวทางฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ชูตลาดจีน-อินเดียชดเชยสหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Monday August 3, 2009 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--แพรนด้า จิวเวลรี่ แพรนด้าจิวเวลรี่ คาดเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง เผยแนวทางฝ่าวิกฤติ เร่งขยายตลาดใหม่จีน อินเดีย ตั้งเป้าตลาดละ 30% พร้อมเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเทศเป็น 18% คุณประพีร์ สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2552 บริษัทได้ตั้งเป้ายอดขายของบริษัทแม่ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไว้ประมาณ 3,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับยอดขายในปี 2551 และ 2550 ส่วนยอดขายของบริษัทฯรวมกับบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ คาดปีนี้จะมียอดขายประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายยอดขายที่ไม่ขยายตัว ก็เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึง 70% ของการส่งออกในภาพรวมของบริษัทมีการชะลอตัวลง อันเป็นผลจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัวลง และต้องนำไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำเป็นด้านอื่นๆก่อน "ยอดค้าปลีกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐฯช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 25% ส่วนตลาดอียูคาดยอดขายลดลง 5-10% ขณะที่สถานการณ์ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ทุกฝ่ายคาดว่าจะลดลงมาก ซึ่งเราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจข้างหน้าของคู่ค้าเราจะเป็นอย่างไร โดยคาดหวังว่าครึ่งหลังน่าจะดีขึ้น" คุณประพีร์ เปิดเผยถึงแนวทางที่จะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ว่า ในปี 2552 นี้จะมุ่งเน้นการขยายตัวในตลาดใหม่มากขึ้น ประกอบด้วย จีน อินเดีย รัสเซีย และตะวันออกกลาง ซึ่งในส่วนของจีน และอินเดียยังมีโอกาส เพราะกำลังซื้อยังค่อนข้างดี มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน โดยในจีนซึ่งบริษัทได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตแล้วนั้นจะมุ่งเน้นการขยายจุดจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯให้มากขึ้น จากปีที่ผ่านมาได้เริ่มแล้วที่เมืองเสินเจิ้น ส่วนที่อินเดียปีที่ผ่านมามีตั้งตัวแทนดำเนินการด้านการตลาด ในปีนี้จะมุ่งเน้นการขายส่งให้มากขึ้น คาดว่าทั้งสองตลาดในปีนี้จะขยายตัวได้โดยรวม 30% ส่วนในรัสเซียและตะวันออกลางจะบุกตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ ของบริษัทอาทิ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย ซึ่งแม้จะไม่สามารถชดเชยตลาดสหรัฐฯและอียูได้ในเวลาอันรวดเร็ว จะเน้นการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยหากมีโอกาส หรือสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า และกำลังซื้อผู้บริโภคดีขึ้นจะพยายามหาช่องทางเพิ่มการขายส่งให้กับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ และรายย่อย รวมไปถึงการเปิดร้านค้าของตัวเองและการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายให้มากขึ้น ส่วนการขยายการลงทุนในปีนี้จะเน้นการขยายช่องทางการตลาดตามความจำเป็น ขณะที่ตลาดในประเทศภายใต้ตราสินค้า "Prima Gold" ที่มีจุดจำหน่ายครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองหลักในแต่ละภูมิภาค จะมีการบริหารลูกค้าสัมพันธ์มากขึ้น โดยตั้งเป้าปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเทศให้มากอีก 18% จากปีที่ผ่านมายอดขายของเครือพึ่งตลาดส่งออกและจำหน่ายในประเทศสัดส่วน 85:15 นอกจากนี้ทางบริษัทยังใช้กลยุทธ์การรุกตลาดด้วย House Brands ซึ่งนอกจาก Prima Gold แล้วทางบริษัทฯยังมีเครื่องประดับภายใต้เครื่องหมายการค้า Century Gold, Prima Art, Ca?, Merii , Kroll Hearts, H.Gringoire ซึ่งระยะที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก รวมทั้งบริษัทฯยังร่วมกันพัฒนาตลาดกับพันธมิตรธุรกิจเพื่อขยายตลาดสินค้าภายใต้ Licensed Brand ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ “ V&A” และ“ Pomp??s” อีกด้วย "ในสถานการณ์วิกฤติอย่างนี้นับว่ามีความรุนแรงกว่าเมื่อปี 2540 เพราะครั้งนี้กระทบต่อตลาดหลักๆทั่วโลก โดยกำลังซื้อผู้บริโภคลดลงมาก โดยเฉพาะในสหรัฐ, กลุ่มประเทศยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้นภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลส่งเสริม โดยจัดกิจกรรม Road show เพื่อหาช่องทางเปิดตลาดใหม่ๆให้มากขึ้น ตลอดจนการช่วยสนับสนุนเรื่องสภาพคล่อง นอกจากนี้คือ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบนำเข้าเพื่อการผลิต การตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้า การพัฒนาบุคลากร และการส่งเสริมการจัดงานบางกอกเจมส์แอนจิวเวลรี่ฯ ให้ลูกค้าต่างชาติเข้ามาร่วมงานมาก" แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกจะประสบกับวิกฤติทางการเงินอย่างรุนแรง จนส่งผลให้กำลังการบริโภคลดลงอย่างน่าใจหาย แต่บริษัทฯก็ยังคงมีความเชื่อมั่นพอประมาณว่า บริษัทฯจะสามารถรักษาฐานการตลาดเดิมทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป และเปิดตลาดใหม่ในประเทศอินเดีย จีน และรัสเซีย ได้ เนื่องจากบริษัทฯมีโครงสร้างการบริหารงานที่เหมาะสมโดยมีโรงงาน 8 แห่งใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และเยอรมันนี และฐานการจัดจำหน่ายของตนเอง 9 แห่งใน 9 ประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-361-3311 ต่อ 131 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บมจ. แพรนด้า จิวเวลรี่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ